KTC เปิดกำไรครึ่งปี 2,790 ล้านบาท ปรับโมเดลลุยธุรกิจสินเชื่อหวังเติบโตระยะยาว

เคทีซีแจ้งผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2563 กำไรสุทธิครึ่งปีแรกตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 เท่ากับ 2,790 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 8.3% เล็งส่ง “พี่เบิ้ม” กลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน รุกตลาดควบคู่สินเชื่อพิโก้และนาโนไฟแนนซ์ ชิงสร้างโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว

ไวรัสทำคนไทยใช้บัตรเครดิตลดลง

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซีหรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“การดำเนินงานของเคทีซีในไตรมาสที่ 2 และครึ่งแรกของปี 2563 ยังคงความสามารถในการหารายได้ และการสร้างผลกำไร แม้ว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบกับคุณภาพสินทรัพย์และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากเมื่อสถานการณ์โดยทั่วไปดีขึ้นและมีการผ่อนคลายมาตรการลง ผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวกลับมาใช้จ่ายดีขึ้นตามลำดับ

ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง 9.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 90,613 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราที่ดีกว่าอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 5 เดือน ประกอบกับบริษัทให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน และการบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และพอร์ตลูกหนี้ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น”

บริษัทฯ ประเมินว่าหากเหตุการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่ส่งผลถึงระดับที่รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากอีก เชื่อว่าไตรมาสที่สองนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินทรัพย์มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อ COVID-19 อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ความสามารถในการชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

อีกทั้งการประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท. ในระยะที่ 2 ที่ปรับลดเพดานดอกเบี้ย ทั้งธุรกิจบัตรเครดิต 2% และธุรกิจสินเชื่อบุคคล 3% ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรนำผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก มาเป็นฐานในการประมาณการผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง

ลุยธุรกิจสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจัดการจะปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้ตอบสนองต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจ และของอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของสินเชื่อ “พี่เบิ้ม” ในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควบคู่กับการขยายสินเชื่อ “พิโก้ ไฟแนนซ์” และ “นาโน ไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว”

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563

  • กำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก 2,790 ล้านบาท
  • มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 เท่ากับ 1,149 ล้านบาท
  • รายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ครึ่งปีเติบโต 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,247 ล้านบาท
  • สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดเหลือ 31.0% เนื่องจากการลดกิจกรรมการตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว
  • หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 6.6%
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้การค้ารวม) เท่ากับ 83,486 ล้านบาท
  • ฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 3.8%) แบ่งเป็น พอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,605,461 บัตร (เพิ่มขึ้น 8.3%)
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้บัตรเครดิต) 53,242 ล้านบาท
  • ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากั90,613 ล้านบาท ลดลง 9.6%
  • NPL บัตรเครดิตตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 5.6%
  • พอร์ตสมาชิกสินเชื่อส่วนบุคคลเคทีซี (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) เท่ากับ 932,112 บัญชี (ลดลง 7.1%) จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล) 30,244 ล้านบาท  NPL สินเชื่อบุคคลตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 8.5%

เคทีซีได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ได้แก่

1. ปรับลดอัตราผ่อนชำระของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563-2564 ร้อยละ 8 ในปี 2565 และร้อยละ 10 ในปี 2566 เป็นต้นไป ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคล “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว

2. ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น การลดค่างวด เป็นต้น โดยขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยมีกลุ่มลูกหนี้เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เท่ากับ 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ 99 ราย และ

3. ปรับลดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินใหม่ ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป