รัฐสภาไต้หวันผ่านร่างกฎหมายเพื่ออนุญาตให้เปลี่ยนชื่อสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับสายการบินจากจีนแผ่นดินใหญ่
สายการบินไชน่าแอร์ไลน์สของไต้หวัน มักถูกเข้าใจผิดและเกิดความสับสนกับสายการบินแอร์ไชน่าของจีนแผ่นดินใหญ่ และรวมทั้งมีการออกมาเรียกร้องอย่างยาวนานให้เปลี่ยนชื่อ หรือทำให้ชี้ชัดไปเลยว่าไชน่าแอร์ไลน์สนั้นเป็นของไต้หวัน
โดยพบว่า ในช่วงวิกฤตการระบาดโรค COVID-19 ไต้หวันได้จัดส่งทีมเจ้าหน้าที่การแพทย์ออกไปต่างแดนในฐานะตัวแทนทูต ที่ส่วนใหญ่มักจะโดยสารด้วยเครื่องสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ส แต่กลับสร้างความสับสนในต่างแดนว่าแท้จริงแล้วมาจากประเทศใดกันแน่
ซึ่งในวันที่ 22 ก.ค. สมาชิกรัฐสภาไต้หวันได้อนุมัติร่างกฎหมายอนุญาตให้ทางกระทรวงคมนาคมไต้หวัน เริ่มจัดทำแผนระยะสั้น และระยะยาวในการรีแบรนด์สายการบินไชน่าแอร์ไลน์สที่มีรัฐบาลไทเปถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง
“ทางกระทรวงสมควรที่จะให้ CAL (สายการบินไชน่าแอร์ไลน์ส) นั้น เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติที่มีภาพลักษณ์ไต้หวันเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศจากการที่ต่างชาติมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสายการบินจีน” ประธานสภาไต้หวัน ยู Yu Shyi-kun กล่าวขณะอ่านร่างกฎหมายออกมาในการประชุม
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีกำหนดออกมาอย่างชัดเจนถึงเงื่อนเวลามาเมื่อใดที่ทางสายการบินไชน่าแอร์ไลน์สสมควรที่จะต้องเปลี่ยนชื่อ
แต่มีนักวิจารณ์บางส่วนออกมาชี้ว่า การเปลี่ยนชื่อสายการบินใหม่อาจจะกลายเป็นการยั่วยุปักกิ่งเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเพิ่มเกี่ยวกับไต้หวันเข้าไป
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน โจเซฟ วู (Joseph Wu) ได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากรัฐสภาโดยระบุว่า นับวันทางจีนจะเพิ่มการก่อกวนด้วยการส่งฝูงเครื่องบินล้ำเขตป้องกันทางอากาศของไต้หวันเกือบทุกวันในเดือนที่ผ่านมา
และเขายังเตือนว่า ปักกิ่งอาจใช้วิธีความขัดแย้งภายนอกเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศของตัวเอง เป็นต้นว่า วิกฤตน้ำท่วม โรคไวรัส COVID-19 และสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าช้า