แบรนด์เบอร์เกอร์ในดวงใจใครหลายคน Mos Burger ประกาศพร้อมทดสอบระบบใหม่ที่คนพิการ หรือผู้กักตัวจะสามารถควบคุมหุ่นยนต์จิ๋วได้จากระยะไกล เพื่อให้หุ่นยนต์เป็นตัวแทนให้บริการลูกค้าที่ร้านได้แบบสบายๆ กลายเป็นมิติใหม่วงการบริการทางไกล ที่ทำให้เจ้าพ่อเบอร์เกอร์สามารถจัดการร้านได้แม้ว่าพนักงานจะป่วย หรือไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ แถมยังเป็นการเวิร์กฟอร์มโฮมหรือ WFH ที่สานต่อธุรกิจได้ดีในยามที่ COVID-19 ยังอาละวาดที่ญี่ปุ่น
บริษัทแม่อย่าง Mos Food Services Inc. สัญชาติญี่ปุ่นเผยว่าระบบพนักงานสมองกลนี้จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ โดยหุ่นยนต์นี้เป็น 1 ในหลายมาตรการป้องกัน COVID-19 ที่บริษัทดำเนินการอย่างเคร่งครัด
ด้วยหุ่นยนต์นี้ พนักงานของ Mos Burger ที่นอนป่วยอยู่ จะสามารถสวมบทเป็นพนักงานในร้าน เพื่อสื่อสารกับลูกค้าที่รอสั่งอาหาร โดยสมองผลตัวจิ๋วจะรับออเดอร์ตามเมนูของ Mos Burger ระหว่างนี้ตัวหุ่นจะถูกควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรล ทำให้ Mos Burger สามารถมอบประสบการณ์การต้อนรับที่อบอุ่นให้กับลูกค้าโดยที่พนักงานไม่ต้องอยู่ที่ร้าน
บริการพันธุ์ใหม่
หุ่นยนต์ที่ Mos Burger เลือกมาพัฒนามีชื่อว่าโอริฮิเมะ (OriHime) สร้างโดยบริษัท Ory Labratory ตามประวัติพบว่าถูกออกแบบมาให้ทำงานแบบสแตนด์อโลนสำหรับบุคคล โดยผู้ใช้สามารถควบคุมให้ Orihime เข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน หรือทำงานบางอย่างที่ไม่สามารถทำเองในเวลานั้นได้ นอกจากจุดเด่นเรื่องการเป็นหุ่นยนต์ควบคุมจากระยะไกล ภายในหุ่นยังมีทั้งกล้องดิจิทัล ลำโพง และไมโครโฟนครบถ้วน
เบื้องต้น Mos Burger จะแต่งกายในชุดเครื่องแบบ Mos Burger แล้วนำร่องทดสอบระบบที่ร้านค้าในเขตชินากาว่า กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสำนักงานใหญ่ โดยบริษัทเริ่มทดสอบโดยกำหนดเวลาราว 4 ชั่วโมงในช่วงบ่ายของวันทำการ ตั้งแต่ปลายกรกฏาคมจนถึงปลายเดือนสิงหาคม ขณะที่ผู้ควบคุมหุ่น OriHime คือพนักงานกะ 2 คนในจังหวัดโอซาก้าและจังหวัดเฮียวโกะ ซึ่งจะทำให้หุ่น OriHime รับงานลงทะเบียน รับคำสั่งซื้อ และตอบคำถามลูกค้า
ยูนิฟอร์มของ OriHime เป็นชุดผ้ากันเปื้อนที่ผูกอย่างเรียบร้อยเข้ากับหมวกที่สวม ลวดลายบนหมวกคือเครื่องหมาย “wakaba” สัญลักษณ์รูปใบไม้สีเขียวและเหลืองที่หมายถึงผู้เข้ารับการฝึกอบรมในฐานะพนักงานตำแหน่งใหม่ ทั้งหมดนี้ Mos Burger ย้ำว่าการนำหุ่นยนต์มาใช้ในธุรกิจไม่ได้หมายความว่าบริษัทกำลังพยายามกำจัดพนักงานตัวจริงออกไป ในทางตรงกันข้าม หุ่นยนต์นี้จะเน้นนำมาแก้ปัญหาพนักงานที่ไม่สามารถเดินทางหรือจำเป็นต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง
เปิดเทรนด์บริการลูกค้าทางไกล
สิ่งที่น่าสนใจคือ OriHime ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ทำงานอัตโนมัติ แต่เป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานด้วยรีโมตคอนโทรล การใช้ OriHime จึงเป็นการเข้าสู่ตลาดงานบริการลูกค้าระยะไกลของ Mos Burger ไปโดยปริยาย ตลาดดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตรวดเร็วในสังคมญี่ปุ่น และยังช่วยผู้ที่ไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้เนื่องจากความพิการ, หรือติดงานดูแลเด็กและผู้สูงวัย ให้มีงานทำกับ Mos Burger
สำหรับ Mos Burger นั้นเป็นเชนร้านแฮมเบอร์เกอร์ในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขณะที่ Ory ต้นสังกัดของ OriHime เคยมีประสบการณ์ริเริ่มทำโครงการประเภทนี้ในปี 2018 โดยหุ่นยนต์ตัวอื่นของบริษัทสามารถทำหน้าที่พนักงานคาเฟ่ในโตเกียว ในขณะที่ถูกควบคุมจากระยะไกลโดยคนที่เป็นอัมพาต ซึ่งสามารถควบคุมหุ่นได้โดยใช้สายตา.
ที่มา :
- https://www.timeout.com/tokyo/news/this-robot-will-be-taking-your-orders-at-one-mos-burger-location-in-tokyo-072720
- https://www.japantimes.co.jp/news/2020/07/25/business/corporate-business/mos-burger-test-system-disabled-people-serve-customers-via-robots/
- https://japantoday.com/category/tech/japanese-fast-food-chain’s-new-robot-worker-helps-people-sick-and-stuck-at-home-continue-to-earn