หัวเว่ยเตรียมเลิกผลิต ‘ชิปเซ็ตคิริน’ ในเดือนหน้า เพราะแรงกดดันจากสหรัฐฯ

นิตยสารการเงิน Caixin ระบุเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ว่าจากผลกระทบของแรงกดดันจากสหรัฐฯ ต่อ ‘หัวเว่ย’ (Huawei) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนกำลังทวีความรุนแรง ส่งผลให้ต้องหยุดผลิตชิปเซ็ต Kirin ที่ใช้สำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงในเดือนหน้า

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนอยู่ในช่วงเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้วอชิงตันกำลังกดดันหลายรัฐบาลทั่วโลกเพื่อบีบการทำธุรกิจกับหัวเว่ย โดยอ้างถึงประเด็นความมั่นคงว่าหัวเว่ยอาจส่งมอบข้อมูลให้รัฐบาลจีนเพื่อการสอดแนม ขณะที่หัวเว่ยเองได้ปฏิเสธข้อกล่าวหน้าดังกล่าวเสมอ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังกำลังพยายามขอให้แคนาดาส่งตัว เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้กับพวกเขาในข้อหาฉ้อโกงธนาคารด้วย

และในเดือนพฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งที่กำหนดให้ซัพพลายเออร์ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์การผลิตให้เลิกทำธุรกิจกับหัวเว่ยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก่อน ส่งผลให้แรงกดดันจากต่าง ๆ ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่บริษัทผลิตชิป HiSilicon ภายใต้หัวเว่ยจะสามารถผลิตชิปดังกล่าวต่อไปได้ ทั้งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะรุ่นแฟลกชิป

“ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนเป็นต้นไป ชิปประมวลผล Kirin ที่ใช้สำหรับรุ่นเรือธงของเราไม่สามารถผลิตได้ นี่เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับเรา” ริชาร์ด หยู ซีอีโอฝ่ายธุรกิจลูกค้าของหัวเว่ย กล่าว

ทั้งนี้ แผนก HiSilicon ของ Huawei อาศัยซอฟต์แวร์จากบริษัทในสหรัฐอเมริกา เช่น Cadence Design Systems Inc หรือ Synopsys ในการออกแบบชิปและจ้างการผลิตไปยัง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co (TSMC) ซึ่งใช้อุปกรณ์จากบริษัทในสหรัฐอเมริกา

โดย HiSilicon ผลิตชิปหลากหลายประเภทรวมถึงโปรเซสเซอร์ Kirin ซึ่งเป็นขุมพลังเฉพาะสมาร์ทโฟนหัวเว่ยและเป็นชิปประมวลผลของจีนเพียงตัวเดียวที่สามารถเทียบเคียงกับ Qualcomm ในด้านคุณภาพได้

“หัวเว่ยเริ่มสำรวจภาคชิปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเราลงทุนทรัพยากรจำนวนมากเพื่อการวิจัยและพัฒนาและผ่านกระบวนการที่ยากลำบาก จากกระทั่งเปลี่ยนจากผู้ตามจนกลายเป็นผู้นำในที่สุด” หยู กล่าวทิ้งท้าย

Source