ไม่ใช่แค่สกัดกั้น จีน ในการเข้าถึงชิประดับสูง แต่ สหรัฐฯ ยังเดินเกมดึงพันธมิตรเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนที่จะมอบเงิน 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง TSMC เพื่อขยายโรงงานในรัฐแอริโซนา
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า ได้ลงนามในข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันกับ TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.) บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของโลกสัญชาติไต้หวัน เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับลงทุนเปิดโรงงานผลิตในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะให้เงินอุดหนุนมูลค่า 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกเหนือจากเงินกู้รัฐบาลประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ จากกฎหมาย Chips and Science Act
ขณะที่ TSMC เองก็ตกลงจะเพิ่มวงเงินลงทุนในสหรัฐฯ อีก 25,000 ล้านดอลลาร์ รวมเป็น 65,000 ล้านดอลลาร์ โดยเตรียมที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ภายในปี 2030 โดยการลงทุนดังกล่าว ถือเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐแอริโซนา
“อเมริกาคิดค้นชิปเหล่านี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเปลี่ยนจากการผลิตเกือบ 40% ของกำลังการผลิตของโลก เหลือเพียง 10% และไม่มีชิปที่ทันสมัยที่สุดเลย นั่นทำให้เราเผชิญกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติอย่างมีนัยสำคัญ” โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว
ปัจจุบัน TSMC ครองสัดส่วนถึง 90% ของชิปที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดย Mark Liu ประธาน TSMC กล่าวว่า การจัดตั้งโรงงานในสหรัฐฯ จะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงชิปภายในประเทศ ที่สามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนไปจนถึงดาวเทียม รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ด้วย
ทั้งนี้ โรงงานทั้ง 3 แห่งคาดว่าจะสร้างงานด้านเทคโนโลยีประมาณ 6,000 ตำแหน่ง และงานทางอ้อมมากกว่า 20,000 ตำแหน่ง เช่น ในการก่อสร้างการรักษาความปลอดภัย และซัพพลายเชน รวมถึงจะดึงดูดซัพพลายเออร์เซมิคอนดักเตอร์ 14 ราย ให้กับรัฐ
การที่สหรัฐฯ สามารถดึง TSMC มาลงทุนในประเทศได้นั้น ถือว่า Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องนำการผลิตชิปมาใช้ในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตชิปจากประเทศอื่น หลังจากที่เจอปัญหาชิปขาดแคลนไปในช่วงการระบาดของ COVID-19 จนส่งผลให้ราคาสูงขึ้น
ขณะที่ประเทศไต้หวันก็อยู่ในตำแหน่งที่อ่อนแอเช่นกัน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านซับพลายเชนและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กังวลว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจทำให้เกิดการรุกรานทางทหารกับไต้หวัน อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตชิปที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ไต้หวันเพิ่งเจอกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงของอุตสาหกรรมต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ
สำหรับกฎหมาย Chips and Science Act ได้ผ่านการรับรองในเดือนสิงหาคม 2022 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศของสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและแข่งขันกับคู่แข่งได้ดีขึ้น เช่น จีน โดยรัฐบาลได้ วางงบอุดหนุนด้านการวิจัยและการผลิตสูงถึง 52,700 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้สมาชิกสภาคองเกรสยังได้อนุมัติวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีก 75,000 ล้านดอลลาร์ด้วย