ก้าวสำคัญ ปตท. จับมือ Plug and Play มุ่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ พา “สตาร์ทอัพไทย” สู่สากล


นวัตกรรมใหม่ๆ ก้าวไปไม่หยุดนิ่งในยุคดิจิทัล เมื่อเทคโนโลยีมีส่วนเข้าช่วยทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาคธุรกิจเเละอุตสาหกรรมต่างๆ

ทุกวันนี้ ธุรกิจจึงต้องเป็น “มากกว่า” ผู้ผลิตสินค้าและจำหน่าย พัฒนาขึ้นไปเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกันเป็น Innovation Ecosystem การสนับสนุน “สตาร์ทอัพ” ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อผลักดันด้วยนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี จึงเป็นเหมือนการขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กัน

@บิ๊กมูฟ ปตท. พา “สตาร์ทอัพไทย” สู่สากล

ล่าสุดกับความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่วงการพลังงานอย่าง “ปตท.” ที่เดินหน้าทุ่มลงทุนใน New Business เเละสตาร์ทอัพไทยอย่างต่อเนื่อง ประกาศความร่วมมือกับ “Plug and Play” บริษัทผู้พัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลก ที่มีผลงานลงทุนในเทคสตาร์ทอัพชั้นนำ ทั้ง Paypal Dropbox และ Lending Club

นับเป็นการจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญครั้งสำคัญ ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่มือผู้บริโภค ผ่านการสรรหาสตาร์ทอัพในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามแนวคิด PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation” พาประเทศไทยให้ก้าวหน้าสู่ระดับสากล

“ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านการเรียนรู้ด้วยวิธีการของ Plug and Play และบริษัทชั้นนำทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนให้ ปตท. เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมไปสู่เวทีโลก พร้อมนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าสู่ระดับสากล” วรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าว

สำหรับความร่วมมือของ ปตท. กับ Plug and Play ครั้งนี้ จะทำให้ ปตท. เข้าถึงเครือข่ายบริษัทด้านเทคโนโลยีที่รวมไปถึงองค์กรใหญ่ และสตาร์ทอัพทั่วโลก ที่อยู่ในประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา (Silicon Valley) , จีน , ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ เเละอินโดนีเซีย เชื่อมต่อให้ ปตท. สามารถติดต่อกับบริษัทต่างๆ เหล่านี้ได้โดยตรง ไปจนถึงการเพิ่มโอกาสในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และการจัด Workshop ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพในเครือ อีกทั้งยังเป็นช่องทางการส่งเสริมแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ ปตท. ด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Techsauce พบว่า ในปี 2019 มีสตาร์ทอัพในไทยทั้งหมดราว 800 ราย ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและได้รับการระดมทุนแล้วกว่า 100 ราย โดยแนวโน้มสตาร์ทอัพไทยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพหลายโครงการที่มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เข้ามาสมัครค่อนข้างมาก และเป็นสตาร์ทอัพที่ค่อนข้างมีคุณภาพกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา

@เส้นทาง 3 New สู่นวัตกรรมใหม่

ภารกิจในพัฒนานวัตกรรมของ ปตท. ยังรวมไปถึงการศึกษาและนำข้อมูลด้านเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้คิดค้น และพัฒนาจากหลากหลายบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ไปต่อยอดและสร้างธุรกิจ S-Curve ให้กับบริษัทภายใต้การบริหารจัดการโดย ExpresSo ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้าน Innovation ของ ปตท.

หัวใจสำคัญของ ExpresSo คือการมองหานวัตกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ หรือหาแนวทางการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ ให้กับ ปตท. มีการทำงานค่อนข้างเปิดกว้างให้เกิดการทดลอง โดยผ่านกลยุทธ์ 3 New ได้เเก่

● New Energy : สร้างธุรกิจด้านพลังงานใหม่ โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายทางความยั่งยืน และความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบปรับปรุงประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์

● New Mobility : เปลี่ยนโฉมการเดินทางในประเทศไทย รวมไปถึงการขนส่งให้มีความสะดวกสบาย และลดมลภาวะ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

● New Industry : ผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทย ให้เข้าสู่ Industry 4.0 เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับโรงงานผลิต

 

Shawn Dehpanah รองประธาน Plug and Play ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ความร่วมมือระหว่าง ปตท. เเละ Plug and Play ภายใต้โครงการสมาร์ทซิตี้นั้น จะมีธุรกิจแนวหน้าจากอุตสาหกรรมต่างๆ มารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงานและความยั่งยืน อสังหาริมทรัพย์ การขับเคลื่อน IoT และ สุขภาพดิจิทัล ที่พร้อมจะช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาต่างๆ ตามความต้องการของ ปตท. ไม่ว่าจะเป็นการสร้างธุรกิจด้านพลังงานใหม่ โดยเฉพาะพลังงานทดแทน การขับเคลื่อนด้านการเดินทางในระบบขนส่งรูปแบบใหม่ และการผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ Industry 4.0 ต่อไป

ก่อนหน้านี้ ปตท. เพิ่งจับมือกับเจ้าใหญ่เทคโนโลยีอย่าง “ไมโครซอฟท์” เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้าน “คลาวด์” โดยความร่วมมือมีระยะเวลา 5 ปี พร้อมศึกษาโอกาสจัดตั้ง AI Learning Center เพื่อนำไปสู่การพัฒนา Ecosystem ให้องค์กร สังคมไทยในระยะยาว โดย ปตท. มุ่งความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ ด้วยการเน้นนำดิจิทัล และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในแต่ละปี บริษัทมีการจัดงบเพื่อการวิจัยและพัฒนาราว 1% ของผลกำไร และภายใน 3-5 ปีนี้ก็จะเพิ่มเป็น 3%

เเม้ในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ช่วงหลังวิกฤต COVID-19 จะมีความท้าทายไม่น้อย เเต่อีกมุมก็เป็นโอกาสทองของ ปตท. ที่จะได้แสวงหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เช่นกัน