เป็นเวลากว่า 30 ปีเลยทีเดียว ที่ประเทศไทยมีแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือพื้นที่ฝั่งตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ระยอง และ ฉะเชิงเทรา เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากชาติต่าง ๆ มาลงที่ไทย เพราะ EEC เป็นหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมของระบบนิคมอุตสาหกรรม สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมก็คือ โครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขต EEC ที่เปรียบเสมือนประตูสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โดย พลเรือโท กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ได้อธิบายว่า รัฐบาลมีภารกิจในการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ เพราะไม่ใช่แค่เปรียบเสมือนประตูสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แต่ยังเป็นศูนย์กลางของ มหานครการบินภาคตะวันออก อีกทั้งสามารถต่อยอดเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ได้อีกด้วย แต่การจะไปถึงจุดนั้น หนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ก็คือ ‘เทคโนโลยี’
ปัจจุบัน สนามบินอู่ตะเภา มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 6,500 ไร่ มีอาคารพักผู้โดยสารจำนวน 2 อาคาร สามารถรองรับนักเดินทางได้ปีละ 3 ล้านคน มีสายการบินเข้าออก 17 สายการบิน ทั้งนี้ สนามบินอู่ตะเภากำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 เมื่อแล้วเสร็จในปี 2598 จะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี โดยภายในอาคารมีแผนติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทันสมัย
เบื้องต้น สนามบินอู่ตะเภาได้ประกาศความร่วมมือกับ ‘เอไอเอส’ (AIS) ตั้งแต่ปี 2561 ในการร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาระบบแอปพลิเคชันและโซลูชันสำหรับสนามบิน และได้ขยายความร่วมมือจนถึงปี 2565 พร้อมกับนำ ‘5G’ เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง Indoor และ Outdoor ซึ่งถือว่าสนามบินอู่ตะเภากลายเป็น สนามบินแรกที่ใช้ 5G อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับบริการที่นำไปเสริมศักยภาพสนามบินอู่ตะเภา ประกอบด้วย
1.Smart Video Analytics Solution ระบบบริหารจัดการอาคารผู้โดยสารด้วยเทคโนโลยีระบบวิเคราะห์และประมวลผลภาพวิดีโออัจฉริยะ โดยประยุกต์ใช้เป็นระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคลและสิ่งของ (Face and Object Recognition) เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย เช่น กรณีบุคคลหรือวัตถุต้องสงสัย หรือแจ้งเตือนกรณีมีวัตถุถูกวางทิ้งไว้เป็นเวลานานผิดปกติ
2.แอปพลิเคชัน Thailand Smart Airport สำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ด้วยข้อมูลด้านการบินและสนามบินในแอปเดียว อาทิ สถานะตารางการบิน การแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับไฟล์ทเดินทาง แผนที่บอกทางภายในสนามบิน และรายละเอียดจุดบริการต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR)
3.เทคโนโลยี Thermal Scan ที่จะช่วยตรวจวัดอุณหภูมินักท่องเที่ยว และเชื่อมต่อสู่ระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสนามบิน
4.หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE (ROC) หุ่นยนต์อัจฉริยะ ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัย AIS Robotic Lab ที่ช่วยคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ดูแลสุขอนามัยนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการสนามบินได้อย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำสูง ลดการสัมผัสใกล้ชิด และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
5.ติดตั้งเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วและมีความเสถียรสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารและประชาชนภายในสนามบิน ตลอดจนรองรับโซลูชันการให้บริการใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
6.บริการ Wifi 6 มาตรฐาน WiFi ยุคใหม่ที่มีความเร็วสูงกว่าปกติ 40% พร้อมรองรับการใช้งานมือถือและดีไวซ์ได้จำนวนมาก
แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้ยังเป็นแค่ ‘จุดเริ่มต้น’ โดยเอไอเอสและสนามบินอู่ตะเภาได้จัดตั้งทีมพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยกำลังศึกษาถึง Use Case ใหม่ ๆ เพื่อดูว่าสามารถนำ 5G มาปรับใช้ในภาคส่วนอื่น ๆ ของสนามบินได้อีกบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ระบบการ Check-in อัตโนมัติ, ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือในส่วนการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า, ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดินที่ให้การเดินทางในรูปแบบต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถบัส แท็กซี่ รวมถึงในส่วนของ ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม ก็สามารถนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
“เราเชื่อมั่นว่านวัตกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาร่วมกัน จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นมหานครการบินแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุน และความเจริญต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่ EEC มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน”