เปิดผลสำรวจ “ประเทศไทย” พร้อมเปิดรับการท่องเที่ยวกว่าชาติใดในโลก

ท่องเที่ยว ประเทศไทย
Photo : Shutterstock
ขณะที่ประเทศไทยทยอยเปิดพรมแดนเพื่อการเดินทางระหว่างประเทศ 3 บริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งประกอบด้วย Blackbox Research ผู้ให้บริการด้านการวิจัยทางสังคม Dynata ผู้ให้บริการด้านข้อมูล และ Language Connect พันธมิตรด้านภาษา

ได้ร่วมทำการสำรวจเพื่อนำเสนอรายงานในหัวข้อ Unravel Travel: Fear & Possibilities in a Post Coronavirus (COVID-19) World ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความคิดเห็น ความพึงพอใจ และความคาดหวังของกลุ่มตัวอย่าง 10,195 คน จาก 17 ประเทศเกี่ยวกับการเดินทางหลังสถานการณ์ COVID-19

คนไทยเปิดรับการท่องเที่ยวมากสุด

ผลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทย 82% เชื่อมั่นว่าประเทศไทยพร้อมเปิดรับกิจกรรมเพื่อการพักผ่อน และท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยความมั่นใจของคนไทยมีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบจากทุกประเทศที่ร่วมการสำรวจ

ผลการศึกษายังระบุว่านักท่องเที่ยวจาก ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ต่างยกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแรก เมื่อประเทศของตนเปิดพรมแดนอีกครั้ง

เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ 93% ตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ คนไทย 22% เห็นด้วยว่าหน่วยงานการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ รวมถึงในประเทศไทย มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน โดยการเห็นด้วยของคนไทยมีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบจากทุกประเทศที่ร่วมการสำรวจ

Saurabh Sardana ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) ของ Blackbox Research กล่าวว่า

“จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่ามหาศาล ขณะที่ประเทศไทยเปิดพรมแดนเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือการเรียกคืนความมั่นใจของนักท่องเที่ยวผ่านการเน้นย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยมีมาตรการด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อช่วยให้ทุกคนปลอดภัย”

ความปลอดภัยมาแทนที่ราคา

ผลสำรวจในภาพรวมพบว่า หากมีการเดินทางท่องเที่ยวครั้งต่อไป ราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมาได้แก่ พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง 18% ที่พัก 15% และแหล่งท่องเที่ยว 10%

แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ มาตรการความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวกลับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง 43% ที่พัก 46% และแหล่งท่องเที่ยว 53%

“เพื่อสนับสนุนให้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศประสบผลสำเร็จ ทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องทำงานร่วมกันเพื่อรับรองว่ามีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ความปลอดภัยและความสะอาดอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเริ่มเกิดกระแสความต้องการท่องเที่ยวภายในประเทศ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ จะเป็นการกระบอกเสียงในการสื่อสารถึงความไว้วางใจไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างได้อีกด้วย”

Sardana กล่าวสรุปว่า “การสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เปลี่ยนมุมมองด้านการท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานในทุกมิติ และในทุกจุดบริการของนักท่องเที่ยว โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยและสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่”

ในช่วงเวลานี้ คนอยากท่องเที่ยวน้อยลง

  • ในภาพรวม คนส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศในเร็วๆ นี้ โดย 44% ของผู้ตอบแบบสำรวจหลีกเลี่ยงการไปเที่ยวต่างประเทศ
  • ชาวญี่ปุ่น 32% ชาวฟิลิปปินส์ 42% ชาวนิวซีแลนด์ 43% และชาวออสเตรเลีย 52% เป็นชนชาติที่อยากไปท่องเที่ยวระยะไกลน้อยที่สุด
  • ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นที่นิยมที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ในขณะที่สเปนเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เนื่องจากจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ของสเปนมีแนวโน้มลดลงในเดือนมิถุนายน
  • ประเทศที่แหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุดระหว่างการระบาด ได้แก่ จีน อิตาลี และสหรัฐอเมริกา

ท่องเที่ยวเน้นปลอดภัย ไร้สัมผัส

  • 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจรวมจากทุกประเทศ เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อที่พักที่ปลอดภัยขึ้น และ 74% ยอมจ่ายเบี้ยสำหรับประกันภัยการเดินทางสูงขึ้นเพื่อความคุ้มครองโรคระบาด
  • 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า จุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไปเยือนคือประเทศที่ให้ความใส่ใจในการมอบประสบการณ์ไร้สัมผัส
  • 66% ต้องการเดินทางโดยยานพาหนะของตนเองเมื่อขับรถเที่ยวระหว่างเมืองหรือประเทศ เมื่อเทียบกับเดินทางโดยเครื่องบิน 18% รถยนต์หรือแท็กซี่เช่าหรือจ้างเหมา 9% และรถประจำทางหรือรถไฟ 7%

การท่องเที่ยวในวิถีชีวิตใหม่

  • สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคต จากการสำรวจพบว่ามีความต้องการบัตรผ่านขึ้นเครื่องแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-boarding Pass 44%) ห้องน้ำไร้สัมผัส 43%
  • การเดินทางไร้สัมผัสจากสนามบินถึงโรงแรม 40% การไม่มีที่นั่งตรงกลางในการคมนาคม 36%
  • และหนังสือเดินทางสุขภาพ (Digital Health Passport 35%) นับเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดใหม่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกคาดหวังว่าจะมีการนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้