“เอเชียทีค” ในวันไร้ต่างชาติ! แก้เกมดึง “คนไทย” ปั้น “เรือสิริมหรรณพ” แลนด์มาร์กใหม่

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ปิดปรับปรุงยาวมาตั้งแต่เดือนมีนาคมหลังเจอพิษ COVID-19 เพราะลูกค้ากลุ่มใหญ่ 80% คือชาวต่างชาติ ทำให้ไม่คุ้มที่จะกลับมาเปิดบริการทันที แต่เอเชียทีคพร้อมกลับมาเปิดตัวแล้วในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่หันมาเจาะ “คนไทย” จับมือ “ครัวคุณต๋อย” สร้างแม่เหล็กร้านอาหาร 70 ร้านในราคาเข้าถึงได้ และ “เรือสิริมหรรณพ” เป็นบาร์และร้านอาหารระดับบน ดึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อ

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ หนึ่งในศูนย์การค้าในมือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC กลายเป็นศูนย์การค้าเดียวของเครือที่ยังไม่กลับมาเปิดให้บริการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นห้างฯ ระดับดาวเด่น มีลูกค้าเข้า-ออกคึกคัก

สาเหตุเป็นเพราะช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 ลูกค้าหลัก 80% ของเอเชียทีคคือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรงก่อนทุกห้างฯ มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

หลังจากนั้นศูนย์ฯ ได้ปิดบริการพร้อมกับคำสั่งล็อกดาวน์ศูนย์การค้าของภาครัฐเมื่อเดือนมีนาคม และตัดสินใจ “ปิดปรับปรุง” ระยะยาว เมื่อเล็งเห็นว่า COVID-19 และการปิดประเทศไม่น่าจะคลี่คลายโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม เอเชียทีคกำลังจะกลับมาเปิดบริการในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ แต่โมเดลธุรกิจจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาท่องเที่ยวได้น้อย ทำให้ศูนย์ฯ จะหันไปจับตลาดคนไทยเป็นหลักแทน

 

เรือสิริมหรรณพ แลนด์มาร์กใหม่

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC กล่าวถึงการกลับมาเปิดบริการวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เอเชียทีคมีการลงทุนทั้งการต่อเรือสิริมหรรณพและรีโนเวตห้างฯ ไปกว่า 300 ล้านบาท หลังจากนี้จะมีแม่เหล็กใหม่ในการดึงดูดลูกค้า 3 ส่วนสำคัญ คือ

  • เรือสิริมหรรณพ : เรือใบสามเสาสร้างตามแบบเรือในยุครัชกาลที่ 5 บนเรือเป็นร้านอาหารและบาร์บริหารโดย โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค
  • New Mega Riverside F&B Destination : แหล่งอาหาร 70 ร้าน ในราคาเข้าถึงได้ คัดเลือกโดย “ครัวคุณต๋อย”
  • Living Museum & Art Festival : พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ใช้เทคโนโลยี Augmented Reality
    สร้างโลกเสมือนจริงย้อนประวัติศาสตร์ พร้อมเทศกาลงานศิลปะ
เรือสิริมหรรณพยามค่ำคืน แลนด์มาร์กใหม่ของ เอเชียทีค

สำหรับเรือสิริมหรรณพใช้งบลงทุนสร้างมากกว่า 100 ล้านบาท เป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เพราะต้องต่อเรือใหม่ขึ้นมาทั้งลำ หวังจะให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ดึงลูกค้ามาเที่ยวชม ถ่ายรูป โดยเรือจะเป็นร้านอาหารและบาร์ที่จอดเทียบท่าถาวรที่เอเชียทีค

ในอีกมุมหนึ่ง การดีลให้โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์คมาเป็นผู้บริหาร ทำให้ร้านอาหารบนเรือลำนี้จะดึงลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาคือลูกค้าระดับบน กลายเป็นจังหวะเหมาะที่เรือต่อเสร็จในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทำให้ผู้ที่ยังมีกำลังซื้อจะเป็นลูกค้ากลุ่มกลางถึงบนเป็นหลัก

บาร์บนเรือสิริมหรรณพ บริหารโดยโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค

 

สร้างแหล่งอาหารใหม่-จัดอีเวนต์เรียนรู้ประวัติศาสตร์

อีกส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ New Mega Riverside F&B Destination ซึ่งร่วมกับ “ครัวคุณต๋อย” ในการคัดสรรร้านอาหารในเครือข่ายมาเปิดบริการ โดยพื้นที่รองรับได้ 70 ร้าน จะแบ่งเป็นร้านประจำกับร้านหมุนเวียน ลักษณะไม่ใช่ร้านสตรีทฟู้ด แต่อยู่ในช่วงราคาที่เข้าถึงได้ เน้นร้านที่เหมาะกับรสนิยมความชอบของคนไทย ขณะนี้มีร้านอาหารที่สนใจแล้วกว่า 200 ร้านเข้ามาชมพื้นที่

การเปิดแหล่งรวมร้านอาหารใหม่นี้น่าจะช่วยแก้ ‘pain point’ ของคนไทยที่มาเอเชียทีคได้ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนไทยอาจจะไม่นิยมมารับประทานอาหารในศูนย์ฯ เพราะร้านอาหารมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าต่างชาติ ไม่ตรงกับรสนิยมคนไทย และราคาค่อนข้างสูง

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC

นอกจากนี้ จะมีการจัด Living Museum & Art Festival ใช้เทคโนโลยีตื่นตาตื่นใจดึงดูดให้คนมาเที่ยวชม โดยเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์วิถีชีวิตคนไทย เชื่อว่ามีกลุ่มคนไทยที่ชื่นชอบการเรียนรู้และชื่นชมคุณค่าเหล่านี้

 

เจรจาผู้ค้ารายย่อยทำสัญญา

จุดสำคัญอีกส่วนของเอเชียทีคคือ เป็นศูนย์การค้าที่มีผู้ค้ารายกลางและรายย่อยจำนวนมากกว่า 1,000 ร้าน ร้านเหล่านี้แต่เดิมเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว หลายร้านเป็นร้านขายของฝาก สินค้าไทยๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยม ดังนั้น การกลับมาเปิดบริการใหม่แต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย ทำให้ร้านค้าต้องพิจารณา

“ร้านค้ายังลังเลด้วยบรรยากาศที่เห็น แต่เราจะให้สิทธิร้านค้าเก่าได้จองพื้นที่ก่อน ส่วนร้านค้าใหม่สามารถติดต่อเข้ามารอได้เลย” วัลลภากล่าว

สัดส่วนร้านค้าที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเปลี่ยนแปลงไป เพื่อจับกลุ่มลูกค้าคนไทยให้มากขึ้น

ขณะนี้ AWC ยังไม่เปิดเผยว่ามีอัตราเช่าแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะอยู่ระหว่างเจรจากับผู้เช่าว่าศูนย์การค้าจะเปลี่ยนไปจับกลุ่มคนไทย ดังนั้น ผู้เช่าเดิมคงต้องประเมินความพร้อมว่าสินค้าที่จำหน่ายจะตรงกลุ่มเป้าหมายใหม่หรือไม่ หรือจะปรับเปลี่ยนได้อย่างไร

 

ฮึดสู้วางเป้า 30,000 คนต่อวัน ลุ้น “ลอยกระทง” ชุบชีวิต

ด้านเป้าหมายคนเดินห้างฯ ที่คาดหวังหลังปิดปรับปรุงและเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ วัลลภากล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าวันหยุดสุดสัปดาห์มีทราฟฟิก 20,000-30,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ศูนย์การค้าทั่วไปในกรุงเทพฯ ควรทำได้

แต่เดิมนั้นเอเชียทีคมีทราฟฟิกช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 50,000 คนต่อวัน เป็นคนไทยประมาณ 20% หรือ 10,000 คนเท่านั้น เป้าหมายใหม่จะทำให้ห้างฯ ต้องดึงคนไทยมาให้ได้อย่างน้อยอีกเท่าตัวจากเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้เพราะคนไทยเองก็ต้องการแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เมื่อไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ โดยแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำก็ยังมีเสน่ห์ดึงดูดคนไทยเช่นกัน

โดยเฉพาะ “เทศกาลลอยกระทง” ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เป็นอีเวนต์ที่เอเชียทีคหมายมั่นชุบชีวิตศูนย์ฯ กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ เพราะปกติเป็นอีเวนต์ที่คนไทยจะมาที่ศูนย์ฯ เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะรักษาระเบียบการจำกัดจำนวนคนเข้าพื้นที่ตามที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด

 

ภาพรวม AWC ฟื้นตัวได้ดีขึ้น

สำหรับภาพรวมทั้งเครือ ในกลุ่มธุรกิจรีเทล เอเชียทีคคือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ต้องปั้นให้กลับมาได้ ส่วนศูนย์ฯ อื่นๆ ฟื้นตัวแล้วทั้งหมด แบ่งเป็นกลุ่มที่ทำได้ดีคือมีทราฟฟิกกลับมาปกติเหมือนช่วงก่อน COVID-19 คือ ลาซาล อเวนิว, พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน และ เกตเวย์ บางซื่อ และศูนย์ฯ อื่นๆที่เหลือ คือกลุ่มที่ฟื้นแล้ว 60-70% ของช่วงก่อน COVID-19 เช่น เกตเวย์ เอกมัย, ตะวันนา บางกะปิ เนื่องจากศูนย์การค้าเหล่านี้จับกลุ่มคนไทยเป็นหลัก ทำให้ฟื้นตัวได้ดี เห็นความคึกคักชัดเจนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ลาซาล อเวนิว เป็นพื้นที่รีเทลที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดในเครือ AWC โดยทราฟฟิกกลับมาเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์หลังภาครัฐคลายล็อกดาวน์ เนื่องจากเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ในแหล่งชุมชน

ด้านกลุ่มธุรกิจโรงแรม ยอมรับว่ายังมีผลกระทบจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ยังต้องลดราคาค่าห้องพักอยู่ ยกเว้นโรงแรมแมริออท รีสอร์ต หัวหิน ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยอย่างมาก ปัจจุบันช่วงสุดสัปดาห์มีอัตราเข้าพักเกิน 90% ดียิ่งกว่าช่วงเดียวกันปี 2562

อัตราเข้าพักของโรงแรมอื่นๆ (เฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์) ในจังหวัดภูเก็ตอยู่ที่ 80% เกาะสมุย 40-50% และโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค แตะ 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่บริษัทพอใจเพราะเป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ และเป็นโรงแรมขนาดใหญ่มากกว่า 1,300 ห้อง

ขณะที่ธุรกิจอาคารสำนักงาน เช่น เอ็มไพร์ทาวเวอร์ แอทธินีทาวเวอร์ ได้รับผลกระทบน้อยมากจากช่วง COVID-19

มองยาวหลังจากนี้ วัลลภากล่าวว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะยังเป็นธุรกิจสำคัญต่อไปในอนาคต เพียงแต่ในระยะนี้บริษัทจะชะลอลงทุนโรงแรมไปก่อนตามสถานการณ์ แม้ว่ารัฐบาลจะมีโนบายเปิดให้ต่างชาติกลุ่มพิเศษเข้าประเทศได้เดือนหน้า แต่เชื่อว่ากว่าที่จะเห็นผลชัดน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564 และจะกลับมาเป็นปกติได้เหมือนในอดีตอย่างเร็วที่สุดคงเป็นไตรมาส 3-4 ปีหน้า