รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน WeChat และ TikTok โดยจะมีผลตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 ก.ย. ด้วยข้ออ้างที่ว่าแอปฯ สัญชาติจีนดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
คำสั่งที่สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.ย. ยังไม่ได้เป็นการแบนอย่างครอบคลุมเสียทีเดียว โดยเฉพาะกับ TikTok เนื่องจากจะทำให้ไม่สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ใหม่ หรือทำการอัปเดตได้เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการผ่อนผันให้ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่สัญชาติจีนของ TikTok ได้มีเวลาหายใจหายคอเพื่อดันข้อตกลงสานต่อธุรกิจในอเมริกาต่อไป
WeChat ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการทั้งการส่งข้อความ, เครือข่ายสังคมออนไลน์ และการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะเผชิญข้อจำกัดที่รุนแรงกว่าตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. ในขณะที่ผู้ใช้ TikTok ในอเมริกาจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักจนกว่าจะถึงวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งคำสั่งแบนธุรกรรมทางเทคนิคบางอย่างจะเริ่มมีผลบังคับอย่างจริงจัง
“เราไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และรู้สึกผิดหวังที่สหรัฐฯ จะห้ามการดาวน์โหลดแอปฯ ตั้งแต่วันอาทิตย์ และแบนการใช้ TikTok ในสหรัฐฯ หลังวันที่ 12 พ.ย. เราจะยังคงเดินหน้าคัดค้านคำสั่งบริหารที่ไม่เป็นธรรมนี้ต่อไป” ไบต์แดนซ์ ระบุในถ้อยแถลง
ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนก็ออกมาประกาศ “คัดค้านอย่างแน่วแน่” และเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดพฤติกรรมข่มขู่และการกระทำที่ไม่ถูกต้องเสีย
“ถ้าฝ่ายสหรัฐฯ ยังดึงดันที่จะใช้วิธีนี้ จีนก็จะใช้มาตรการตอบโตที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของบริษัทจีน” กระทรวงพาณิชย์จีนระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้เอ่ยชัดเจนว่าเขาสนับสนุนดีล TikTok หรือไม่ แต่บอกว่าเรื่องนี้อาจจะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ “อย่างรวดเร็ว”
“เรามีทางเลือกที่ยอดเยี่ยมอยู่บ้าง และบางทีเราอาจจะทำให้คนจำนวนมากแฮปปี้ได้ เราจำเป็นต้องปกป้องอเมริกาให้ปลอดภัยจากจีน” ทรัมป์ บอกกับสื่อมวลชน
วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยืนยันกับฟ็อกซ์บิสสิเนสว่า “แอปฯ TikTok แบบเบสิกจะยังคงใช้งานได้ไปจนถึงวันที่ 12 พ.ย.”
ทั้งนี้ คำสั่งห้ามดาวน์โหลดอาจถูก ทรัมป์ สั่งยกเลิกก่อนจะมีผลบังคับใช้ก็ได้ ถ้าระหว่างนี้ไบต์แดนซ์ และออราเคิล (Oracle) สามารถบรรลุข้อตกลงที่ตอบสนองข้อกังวลต่างๆ ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้
รัฐบาล ทรัมป์ พยายามกำจัดสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “แอปฯ จีนที่ไม่น่าไว้วางใจ” ให้หมดไปจากเครือข่ายดิจิทัลในสหรัฐฯ ท่ามกลางความตึงเครียดกับปักกิ่งทั้งในเรื่องสงครามการค้า, ปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการช่วงชิงความเป็นหนึ่งในด้านเทคโนโลยีระหว่าง 2 มหาอำนาจ
สำหรับคำสั่งแบน WeChat นั้นจะทำให้ผู้ใช้ในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากระบบการโอนเงิน จ่ายเงิน ที่อาจล่าช้าหรือติดขัดตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ย. เป็นต้นไป
เทนเซ็นต์ โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปฯ WeChat วิจารณ์คำสั่งของสหรัฐฯ ว่าเป็นเรื่อง “น่าเสียดาย” แต่ก็ยืนยันว่าพร้อมจะเจรจากับวอชิงตันและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาทางออกในระยะยาว