ย้อนรอยเทรนด์ ‘Avatar’ ฟีเจอร์เก่าที่กลับมา ‘ฮิต’ ใหม่ในโลก Social

หากย้อนไปประมาณช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ใครที่ไถ Facebook อยู่คงจะได้เห็นเพื่อน ๆ หลายคนแชร์รูป ‘ตัวการ์ตูน’ ที่เป็น อวาตาร์ แทนตัวคนนั้น ๆ กันเต็มฟีด ซึ่งก็ไม่ต้องไปหาแอปอะไรมาสร้าง แต่ Facebook นี่แหละที่เปิดให้ผู้ใช้สร้างกันได้เองผ่านฟีเจอร์อวาตาร์ (Avatar) และมาปลายเดือนนี้ LINE ก็เปิดให้ผู้ใช้ได้สร้างอวตาร์ของตัวเองด้วยเช่นกัน ดังนั้น Positioning จะพาไปย้อนรอยถึงเทรนด์การสร้างอวตาร์กัน ว่ามันเริ่มต้นมาได้อย่างไร

อย่างที่หลายคนรู้ ว่าเทรนด์การสร้างอวาตาร์นี่ไม่ใช่อะไรที่ใหม่เลย เพราะหากย้อนไปเมื่อปี 2018 ที่เป็นช่วงเริ่มต้นของยุคทองแห่งแอปพลิเคชันจดจำใบหน้าด้วยเทคโนโลยี AI ส่งผลให้สมาร์ทโฟนตัว Top ก็มีฟีเจอร์ให้สร้างอวาตาร์ได้ อย่าง Samsung Galaxy S9 และ S9+ ที่มีฟีเจอร์สร้าง ‘AR Emoji’ ไว้ใช้งานได้ด้วยตัวเอง หรืออย่างฝั่ง iOS ที่สามารถให้ผู้ใช้สร้าง ‘Memoji’ ได้เช่นกัน (ตั้งแต่ iOS 12 ขึ้นไป) แน่นอนว่าฟีเจอร์ดังกล่าวสามารถสร้างความ ‘ว้าว’ ให้กับสินค้าได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

จากนั้นในปีเดียวกัน ก็มีแอปพลิเคชันอย่าง ‘ZEPETO’ (เซ็ปเพ็ตโต้) แอปสัญชาติเกาหลีที่ใช้สร้างอวาตาร์ไว้เล่นกับเพื่อน แต่ไม่ใช่แค่สร้างมาเป็นสติกเกอร์ไว้เอามาแชร์บน Social เท่านั้น แต่เพราะสามารถทำวิดีโอภาพเคลื่อนไหวได้ สามารถใช้อวาตาร์สร้างปฏิสัมพันธ์ พบปะผู้คนที่เข้ามาเล่นด้วยกันกับเพื่อนได้ เช่น ถ่ายภาพร่วมกัน และมีเกมให้เล่นเพื่อเก็บเหรียญเพื่อซื้อชุดต่าง ๆ ส่งผลให้ในขณะนั้น ZEPETO มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดในจีนและไทยเลยทีเดียว

นอกจากนี้ก็มี Bitmoji ของ Snapchat ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน จากความฮิตดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าพ่อ Social Media อย่าง Facebook ก็หันมาเพิ่มฟีเจอร์อวาตาร์อย่างที่เรา ๆ กำลังเล่นกันอยู่ โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อกลางปี 2019 โดยเริ่มที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ก่อนจะมาเปิดตัวที่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอีกหลายประเทศไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา และล่าสุดก็มาถึงคิวของ ‘LINE’ ที่เพิ่มฟีเจอร์อวาตาร์ให้ได้เล่นกัน โดยสามารถนำอวาตาร์มาทำเป็นภาพนิ่งหรือวิดีโอได้ แถมสามารถเอาตัวอวาตาร์ไปถ่ายภาพแบบ AR ได้ด้วย

จะเห็นว่าฟีเจอร์อวาตาร์ไม่ใช่อะไรที่ ‘ใหม่’ แต่ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ออกมาสร้างสีสันบนโลก Social ได้ดี แถมมีโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต เช่น ซื้อชุดหรือสกินเสริม อย่างไรก็ตาม เพราะไม่ได้มีการต่อยอดอะไรเหมือนกับ ‘เกม’ ที่จะทำให้ผู้ใช้ยอมจ่าย แต่ใช้แค่สร้างอวาตาร์ของตัวเองไว้เป็นสติกเกอร์เพื่อสร้างสีสันเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแสการสร้างอวาตาร์จะมาไวและไปไว (มาก) ไม่ว่าจะมาในยุคไหนสมัยไหนก็ตาม