“การบินไทย” เปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร 2 แพ็กเกจ “เออร์ลี่รีไทร์–หยุดงานไม่รับเงินเดือน” หวังยืดสภาพคล่องการเงินใช้จ่ายได้ถึง เม.ย. 64 เปิดรับสมัครชุดแรก 15 ต.ค.นี้.
รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร 2 โครงการเพื่อลดค่าใช้จ่าย และให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงิน สามารถยืดค่าใช้จ่ายออกไปเดิมที่จะมีถึงเดือน ธ.ค. 2563 ไปเป็นเดือน เม.ย. 2564
โดยโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร แบ่งเป็น 2 แพ็กเกจ
แพ็กเกจ A เป็นโครงการร่วมใจจากองค์กร ( Mutual Separation Plan : MSP A) ระยะเวลาโครงการ กำหนดรับสมัครวันที่ 15-31 ต.ค. 2563 ประกาศผล 20 พ.ย. 2563 มีผลบังคับ 1 ธ.ค. 2563 โดยมีเงื่อนไข คือ พนักงานทุกคนมีสิทธิ์สมัคร การอนุมัติต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์กลาง และหลักเกณฑ์ของหน่วยงานเพื่อรักษา key person ไว้ รวมถึงอายุและผลประเมินการปฏิบัติการ ภาษีที่บริษัทต้องรับผิดชอบให้พนักงาน ส่วนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามกำหนดของบริษัท, กองทุนประกันสังคม ละเงินทดแทนการว่างงาน โดยประเมินเงินตอบแทนโครงการ จำนวน 2-14.33 เดือนตามกฎหมาย บวก 1 เดือน (จ่ายทุกเดือนเริ่ม ม.ค. 2564)
ข้อดีของแพ็กเกจ A คือ สามารถคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย และประหยัดค่าใช้จ่ายบุคลากรในระยะยาว วางแผนการเงินได้ ส่วนพนักงานได้รับผลตอบแทนตามกฎหมาย ได้รับเงินรายเดือน ส่วนข้อเสียมีประเด็นเดียว คือ บริษัทฯ ยังคงมีค่าใช้จ่ายรายเดือนไปอีกระยะหนึ่ง
แพ็กเกจ B (Leave with out pay หรือ LWOP ระยะยาว+ MSP B) ระยะเวลาโครงการรอบ 6 เดือน ช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2563 – 30 เม.ย. 2564 ประกาศรับสมัคร 15-31 ต.ค. 2563 เป็นการขยายเงื่อนไข Together WeCan นับอายุงานต่อเนื่อง ได้รับเงินช่วยเหลือ 20% ของเงินเดือนปัจจุบัน ทุกเดือน (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่นๆ) ส่วนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามที่บริษัทฯ และกองทุนประกันสังคมกำหนด ซึ่งจะมีข้อดีทำให้บริษัทประหยัดเงินได้ทันที พนักงานสามารถช่วยบริษัทได้ และมีโอกาสตัดสินใจเข้าโครงการ MSP B ส่วนข้อเสีย คือ ต้นสังกัดต้องวางแผนบุคลากรใหม่เพื่อไม่ให้กระทบการทำงานปกติ
สำหรับโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร MSP B : Mutual Separation Plan รอบพิเศษ รับสมัคร 1-15 มี.ค. 2564 ประกาศผล 20 เม.ย. 2564 มีผลวันที่ 1 พ.ค. 2564 เงื่อนไขสำหรับพนักงานที่เข้าโครงการ LWOP ระยะยาว จนสิ้นสุดโครงการแล้วเท่านั้น การอนุมัติ ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์กลาง และหลักเกณฑ์ของหน่วยงาน เพื่อรักษา key person ไว้
โดยได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามที่บริษัทฯ และกองทุนประกันสังคมกำหนด ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน โดยเงินตอบแทนโครงการ จำนวน 2-14.33 เดือน ตามกฎหมาย บวก 4 เดือน (จ่ายทุกเดือนเริ่ม มิ.ย. 2564) ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบหเหน็จ (จ่าย พ.ค. 2564) เงินอื่นๆ (เริ่มจ่าย มิ.ย. 2564 เป็นงวดๆ) ข้อดี บริษัทฯ จะเคยชินกับแผนการทำงานใหม่และวางแผนจัดการด้านเงินได้ ส่วนพนักงานได้ผลตอบแทนมากกว่ากฎหมายได้รับเงินรายเดือน ส่วนข้อเสีย บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนไปอีกระยะหนึ่ง
สำหรับพนักงานในกลุ่มนักบินบริษัท จะทำการ Recurrent เพื่อให้สามารถรักษาสถานะภาพใบอนุญาตการบิน
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวว่า
ที่ผ่านมาพนักงานมีความร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี หาช่องทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายด้านต่างๆ โดยในส่วนของการลดรายจ่าย พนักงานการบินไทยประมาณ 1.7-1.8 หมื่น หรือประมาณ 80% ของพนักงานทั้งหมด 1.9 หมื่นคน ให้ความร่วมมือ โดยประมาณ 40-70% ร่วมลดเงินเดือน บางส่วนร่วมมือแบบหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน ซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสด สามารถใช้ได้ในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2563
อย่างไรก็ตาม จากสภาพการบินระหว่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักจากปัญหา COVID-19 แม้จะหารายได้จากส่วนอื่นก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อรักษากระแสเงินสดให้ได้ถึงเดือน เม.ย. 64 บริษัทฯ จึงออกโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เริ่มกลางเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจากการพูดคุยพนักงานบางส่วนก็พร้อมลาออกก่อนเกษียณ เพียงแต่ขอให้มีแพ็กเกจที่เหมาะสม