เเม้ชื่อของ “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” จะเป็นผู้กำกับชื่อดังที่เริ่มต้นได้สวยงาม จากหนังดังในตำนานอย่าง “แฟนฉัน” มาตั้งเเต่ปี 2546 เเต่เส้นทางการพลิกบทบาทสู่ผู้บริหาร ปลุกปั้น “นาดาวบางกอก” มากว่า 11 ปีนั้น ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่นัก
จากผู้กำกับร่วมในเเฟนฉัน ลงสนามเป็นผู้กำกับเดี่ยวในภาพยนตร์เด็กหอ ตามมาด้วย 5 แพร่ง, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และวัยรุ่นพันล้าน โกยความสำเร็จไปด้วยดี เเต่จากนั้นเขาตัดสินใจออกจาก Safe Zone ด้วยการมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของ “นาดาวบางกอก” ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นเพียงแค่บริษัทดูแลศิลปินในสังกัดของ GTH
ย้อนความหลัง : วันที่ “นาดาว” เกือบต้อง “ปิดบริษัท”
“ช่วง 3-4 ปีเเรกของนาดาว ลุ่มๆ ดอนๆ มาก ตอนนั้นจับทางไม่ได้ว่าการพัฒนาศิลปินเเล้วมาทำรายได้อย่างไร จนกระทั่งถึงตอนถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ซึ่งตอนนั้นเกือบจะปิดกิจการบริษัทไปเเล้ว เพราะปีนั้นทำกำไรเเค่ 26,000 บาท”
ย้งเล่าย้อนไปในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาของนาดาว ว่า ซีรีส์ “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” ซีซัน 1 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท ช่วย “กู้วิกฤต” ให้เขาไม่ต้องทำธุรกิจ “เจ๊ง”
ช่วงเริ่มเเรก นาดาวบางกอก มีทีมงานเพียงแค่ 7-8 คนเท่านั้น โดยระหว่างการถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ ซีซัน 1 นั้นถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ “คนทั้งออฟฟิศ” มาทำงานเดียว จนทำให้ไม่มีเวลาไปรับงานอื่น ไม่มีรายได้เข้ามา จึงทำให้ผลประกอบการของนาดาวในปีนั้นมีกำไรเพียงแค่ 26,000 บาท (เป็นตัวเลขที่พนักงานรุ่นเก่าจำได้ขึ้นใจ)
“ตอนนั้นรู้สึกท้อ คิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่เราทำไม่เป็นจริงๆ เเหละ…ทำใจเเล้ว ตอนฮอร์โมนส์ฯ ออกฉาย เราหา
สปอนเซอร์ได้เเค่เจ้าเดียว พอฉาย 2 ตอนเเรก กระเเสเริ่มมีบ้างประปราย ก็คิดว่าเราก็จะ “จบสวย” เหมือนกันนะ (หัวเราะ) พอฉายไปจนจบซีซัน กระเเสตอบรับดีเกินคาด ผู้ชมเเละสปอนเซอร์ถามหาเยอะ ตอนนั้นเเหละผมถึงมีความคิดว่า…ต้องไปต่อ ซึ่งซีซัน 2 ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บริษัทมีทุกวันนี้”
จากซีรีส์ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น นาดาวบางกอก ขยับฝ่ายโปรดักชั่นไปต่อยอดทำออริจินัลคอนเทนต์ ให้กับ LINE TV เเละทำซีรีส์ที่เจาะตลาดคนทุกวัยอย่าง “เลือดข้นคนจาง” ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน
รายได้ของ “นาดาว” มาจากอะไรบ้าง
ปัจจุบันงานหลักๆ ของนาดาวบางกอก มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ ฝ่ายดูแลพัฒนาศิลปิน–นักแสดง ฝ่ายโปรดักชั่นผลิตซีรีส์–คอนเทนต์ และค่ายเพลง Nadao Music
ด้วยความที่ธุรกิจของ “นาดาว” ขึ้นอยู่กับ “คนอื่น” เยอะทั้งลูกค้าเเละสปอนเซอร์ พรีเซ็นเตอร์เเละอีเวนต์ต่างๆ จึงทำให้คาดการณ์รายได้ยากว่าในเเต่ละปีบริษัทจะโตเท่าไหร่ โดยรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ราว 270 ล้านบาท
เเบ่งรายได้ของนาดาวง่ายๆ เป็น 2 ส่วน ได้เเก่ ดูแลศิลปินและนักแสดง ราว 60% ส่วนอีก 40% มาจากการทำซีรีส์และคอนเทนต์ต่าง ๆ
ที่น่าสนใจคือ “กำไรที่ได้” นั้นกลับสวนทางกัน โดยฝ่ายโปรดักชั่น เเม้จะมีรายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า เเต่ทำกำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายเเล้วได้ประมาณ 20-30% ขณะที่ส่วนดูเเลศิลปิน รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้จากค่าตัว มักจะถูกแบ่งให้กับศิลปินในสัดส่วนที่มากกว่า เเละเมื่อหักลบอะไรต่าง ๆ แล้ว จึงเหลือเป็นกำไรกลับมายังบริษัทเพียงแค่ประมาณ 8-15% ต่องานเท่านั้น
“ช่วงที่จัดอีเวนต์ไม่ได้ หายไปเลยกว่า 2 เดือนที่ล็อกดาวน์นั้น กระทบงานส่วนดูเเลศิลปินโดยตรง เพราะรายได้ศิลปินทั้งหมดมาจากงานอีเวนต์ราว 20% พรีเซ็นเตอร์ 70% เเละออนไลน์ 10%”
ยัง เล่าลึกลงไปถึงการลงทุนใน “โปรดักชั่น” ว่า ซีรีส์ส่วนใหญ่ของนาดาว มีต้นทุนต่อตอนราว 2.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าละครในช่วง Prime-Time ของทีวีช่องใหญ่ทั่วไป ที่มักจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านบาท
“การจะให้ลดต้นทุนโปรดักชั่นเพื่อเพิ่มกำไร ไม่ใช่ทางของนาดาว มันเป็นเรื่องของการรักษาคุณภาพ รายละเอียดของงาน เพราะคนทำงานก็มาจากคนทำหนัง พอลงมาทำสเกลเล็กกว่าอย่างซีรีส์ ค่าตัวของทีมงานก็ยังเหมือนเดิม มีซีนเยอะขึ้นก็มีค่าตัดต่อเพิ่มอีก เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในเเต่ละปี จึงได้ชมซีรีส์จากนาดาวเพียง 1-2 เรื่อง”
โดยตอนนี้รายได้ของนาดาวบางกอก มาจากในประเทศ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่มาจากจีนที่ซื้อซีรีส์ไปฉาย)
ความท้าทายของธุรกิจ “ดูเเลศิลปิน”
ตอนนี้นาดาวบางกอก มีศิลปินอยู่ในสังกัด 36 คน การทำงานกับ “คนรุ่นใหม่” ที่มีความคิดความอ่านเเตกต่างกันตามเจเนอเรชันนั้น “ไม่ใช่งานง่ายๆ”
ทรงยศ บอกว่า นโยบายของนาดาวยังคงเหมือนเดิม คือ การพัฒนาคนขึ้นมาให้เป็นนักเเสดงเเละศิลปินที่ “ดีพอ” ให้คนข้างนอกมาจ้าง อยากทำงานกับพวกเขา ไม่ใช่วนเล่นหนังให้กับ GDH หรือนาดาว
“ถ้าเห็นน้องคนไหนไปทำงานข้างนอกเยอะๆ ไม่ได้ทำนาดาวเลย นั่นคือนักเเสดงที่เราภูมิใจนะ เราพยายามส่งเสริมให้เขามีประสบการณ์ มีความสามารถเพียงพอที่จะเอาตัวรอด ทำงานกับผู้จัดข้างนอกได้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าภูมิใจในสิ่งที่เราทำมา เเละน้องๆ ก็ได้ออกไปทำในสิ่งที่อยากทำด้วย”
“เเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เเผนการตลาดเเละสื่อสารองค์กรของนาดาวบางกอก เสริมว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่ “ศิลปินอยู่กับเราตั้งเเต่เด็กจนโต” ทำให้เห็นความเปลี่ยนเเปลง พอเป็นวัยรุ่นก็ต้องใช้เหตุผลคุยกัน มุมหนึ่งก็คุยกันง่ายขึ้น เเต่อีกมุมเขาก็เริ่มมีทัศนคติ มีเเนวคิดของตนเอง
อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินยังอยู่กับ “นาดาว” ?
ย้งตอบว่า “ผมไม่เคยถามน้องๆ นะ เเต่เดาว่า คงเป็นการที่เราอยู่เเบบพี่น้อง การทำสัญญากับนาดาวไม่มีการผูกมัด ถ้าศิลปินรู้สึกว่าวันหนึ่งไม่อยากทำเเล้ว อยากยกเลิกสัญญา ก็ทำ เมื่อไหร่ก็ได้ เเต่ต้องมาคุยกันก่อน มีเหตุผลที่เข้าใจได้เเละไม่มีอะไรค้างคา ทำงานเเบบรับผิดชอบต่อกัน เรื่องการบริหารคนก็มีปัญหาหยุมหยิมไปหมด เเต่ต้องคุยกันให้เข้าใจ ให้รู้สึกสบายใจ”
ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เฟ้นหาเด็กมา “ปั้นเป็นดารา” อย่างไร มองจากอะไร ?
“ผมว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เวลาเเคสติ้งนักเเสดงมาเล่นหนังก็เจาะจงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องรสนิยมส่วนตัว เเต่เด็กที่ทำให้เราสนใจได้ ต้องมี “คาเเร็กเตอร์” บุคลิกเฉพาะตัวของเขา เช่น เดินมาเเล้วพูดอะไรบางอย่าง เเล้วเราจำเด็กคนนี้ได้ ไม่ใช่เเค่เรื่องหน้าตาเท่านั้น เเต่ชวนมอง มองได้ไม่เบื่อ”
นาดาวบางกอก มีการเสริมทักษะให้ศิลปินต่างๆ เริ่มจากการให้ “เรียนการเเสดง” ก่อนจากนั้นค่อยๆ ให้เข้าสู่โปรเจกต์ที่ไม่ยากเกินตัว เวลาส่งศิลปินไปเเคสติ้งงาน ก็อยากรู้ฟีดเเบ็กจากลูกค้าว่าทำไมเลือกศิลปินเรา เเละทำไมไม่เลือก เพื่อนำมาปรับปรุงเเละพัฒนาต่อไป
ความเป็นเด็กนาดาว ทำให้มีภาษีกว่าที่อื่นไหม ?
“ถ้าเป็นช่วงหลังๆ ก็อาจจะมีบ้าง มีข้อได้เปรียบว่ารุ่นพี่สร้างภาพจำที่ดีว่าสังกัดนี้ตั้งใจ รับผิดชอบเเละมีทักษะการ
เเสดงที่โอเคระดับหนึ่ง เเต่สุดท้ายเเล้วก็ขึ้นอยู่กับเเต่ละบุคคลว่าตัวเขาเองทำได้ดีเเค่ไหน”
Nadao Music กับความฝัน T-POP ระดับเอเชีย
ย้งเล่าว่า การทำค่ายเพลงของนาดาว เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ เเต่เกิดจากการที่มีกลุ่มศิลปินที่มีความสามารถด้านการร้องเพลง โดยสมัยก่อนจะให้ไปเซ็นสัญญากับที่อื่น เเต่พอมาคิดดูเเล้ว คงถึงเวลาเเล้วที่นาดาวจะต้องจะทำเอง “เพื่อซัพพอร์ตความสามารถของศิลปิน”
เมื่อพอคิดจะมียูนิตนี้ อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นธุรกิจให้ได้ ด้วย “ความบังเอิญ” ที่ตอนนั้นซีรีส์รักสุดใจนายฉุกเฉิน เเล้วทำเพลงประกอบ “รักติดไซเรน” เกิดกระเเสฮอตฮิตขึ้นมา จึงเป็นการปูทางให้บริษัทได้เรียนรู้การทำตลาดจากเพลงจริงจัง โดยตอนนี้มีเบล–สุพล นักร้องชื่อดัง มานั่งแท่นเป็นหัวเรือใหญ่
ล่าสุดมีศิลปินในสังกัด 6 คน คือ เจเลอร์ กฤษณภูมิ , ไอซ์ พาริส , กัปตัน ชลธร , บิวกิ้น พุฒิพงศ์ , แพรวา ณิชาภัทร เเละนาน่า ศวรรยา โดยมีเเผนจะเพิ่มศิลปินในอนาคต เเต่ขอโฟกัสที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีก่อน
“ถ้าถามว่านาดาว บางกอกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ต้องขอบคุณซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ถ้าถามว่าเกิด Nadao Music ได้ยังไง ก็ต้องขอบคุณเพลงรักติดไซเรน”
ความคืบหน้าของ Nadao Music นั้น ย้งบอกว่า เพิ่งเปิดตัวเป็นปีเเรก…ต้องสู้กันอีกยาว “ยังยากลำบากเเละผลประกอบการก็ยังน่าเป็นห่วง เเต่ไปต่อเเน่นอน”
ผู้บริหารนาดาว มองว่า เเม้ธุรกิจค่ายเพลงจะอยู่ในช่วงขาลง เเต่วงการนี้ยังมี “ลู่ทาง” ที่จะไปต่อได้ เช่น การขยายฐานตลาดเเฟนเพลงออกไปยังต่างประเทศแทน เริ่มจากประเทศในอาเซียน ที่ตอนนี้นาดาวมีฐานแฟนอยู่ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และจีน อยู่แล้ว “ถ้าเราอยากทำเพลงดี ลงทุนสูง ตลาดในบ้านเรา อาจจะไม่พอ”
โดยตั้งเป้าจะเจาะตลาดเอเชียเป็นหลัก ซึ่งประเทศที่ฝันอยากจะไปให้ถึงก็คือ “เกาหลีใต้และญี่ปุ่น” เพราะทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมด้านบันเทิงที่แข็งเเกร่งมาก
“ถ้าถามว่าเป้าหมายอยากทำ T-POP ให้โด่งดังในระดับเอเชียไหม คำตอบคืออยากมาก เเต่จะสำเร็จไหมก็ต้องดูกันยาวๆ”
ซีรีส์วาย ต้อง “หลากหลาย” ถ้าอยากไปต่อ
นาดาวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าเเรกๆ ที่ลงสนามมาทำ “ซีรีส์วาย” จนตอนนี้กลายเป็นกระเเสฮิตติดลมบนไปเเล้ว
“เรากำลังทำความเข้าใจเเละเรียนรู้ตลาดซีรีส์วายอยู่ตลอด เเต่ไม่ได้มองว่าพอตลาดมันฮิตเเล้วค่อยลงไปทำ เเต่เราทำเพราะทีมงานเราอยากทำ มาเสนอโปรเจกต์ที่เห็นว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาเเละพอจะขายได้ เช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็เป็นการต่อยอดการเเสดงของ #พีพีบิวกิ้น จากบท “หมอเต่า–ทิวเขา” ในละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน”
ผู้บริหารนาดาว มองว่า ตลาดซีรีส์วาย ถือว่าเติบโตเร็วเเละใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เเม้ทุกวันนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่ม เเต่เป็นกลุ่มที่กว้างมาก ทำให้เราเห็นว่าโลกทุกวันนี้ สิ่งที่เป็น Niche Market จะกลายเป็นตลาดเเมส ไม่มีอะไรที่เเมสจริงๆ เเล้ว ซีรีส์วายก็จะเป็น Niche ที่เเมสไปอีกเเบบหนึ่ง
“ผมว่าซีรีส์วาย ถ้าอยากจะไปต่อ เราต้องทำคอนเทนต์ให้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ เเละมีมาตรฐานชัดเจน”
“ศิลปิน–คอนเทนต์” กับวิกฤต COVID-19
ทรงยศ กล่าวถึงการปรับตัวของนาดาวบางกอก ในสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ฟังว่า ตอนเเรกก็ตั้งตัวไม่ทัน ต้องเเก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเเทบทุกอย่าง เพราะตอนนั้นถึงเวลาเปิดกล้องถ่ายทำละคร “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” เเต่จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ออกไปถ่ายทำไม่ได้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์เเบบวีคต่อวีค
“ส่วนมากต้องเจรจากับลูกค้า เพราะการเลื่อนถ่ายทำคือการเลื่อนฉาย เเต่จะเลื่อนไปได้ถึงไหน ตอนนั้นยังไม่รู้ เเต่หลังเราชนฝาได้เพียงสิ้นปี จะข้ามปีไม่ได้ ทั้งปัญหางบประมาณเเละคิวนักเเสดง จากใบเสนอราคาที่เคยเข้าบริษัทเดือนละ 30 ใบ ตอนนั้นเข้าเเค่ 6 ใบ”
ส่วนธุรกิจดูเเลศิลปินนั้น ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะงานอีเวนต์ต่างๆ ที่บริษัทรับไว้ถูกยกเลิกเพราะสุ่มเสี่ยงเกินไป เหล่าสปอนเซอร์ที่เป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์ได้รับผลกระทบหมด เพราะขายของไม่ได้ จึงมีผลต่อการตัดสินใจในงบที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนซีรีส์สักเรื่อง “มีทั้งเจ้าที่ยกเลิกเเละระงับโปรเจกต์ไปก่อน”
“ช่วง COVID-19 ดูเหมือนนาดาวจะเงียบๆ ไม่มีงาน เเต่งานหลักของเราคือการเเก้ปัญหาความวุ่นวายหลังบ้าน เช่น ลูกค้าที่ซื้อพรีเซ็นเตอร์ศิลปินเรา ถ่ายโฆษณาไม่ได้ ออกอีเวนต์ไม่ได้ น้องเราจะช่วยอะไรกลับได้บ้าง ทำอะไรทดเเทนได้บ้าง”
เเบรนด์ต่างๆ ก็ปรับตัวเร็ว อย่างการเปลี่ยนให้ศิลปินไลฟ์เองจากที่บ้าน โพสต์รูปกักตัวอยู่บ้านในอินสตาเเกรมเเละทวิตเตอร์ รวมไปถึงให้ศิลปินช่วยไลฟ์ในเเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กระตุ้นขายของ ซึ่งต่อไปการจัดอีเวนต์หรือโปรโมตสินค้า ก็คงต้องเป็นรูปแบบผสมออฟไลน์–ออนไลน์
“ศิลปินก็ต้องปรับตัว ทำคอนเทนต์กึ่งๆ โฆษณาจากที่บ้านเอง เเต่งหน้าเองเพราะไม่มีกองถ่ายไปดูเเล พวกเขาต้องถ่ายเอง ลองผิดลองถูก มีการทำคอนเทนต์กักตัวเดอะซีรีส์ ทุกอย่างโปรโมตผ่านออนไลน์ ทำให้ได้เข้าใจการใช้เเพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายใหม่ของศิลปินในยุค New Normal”
หลังคลายล็อกดาวน์ ทีมงานสามารถกลับมาทำงานโปรดักชั่นได้ “เต็มรูปแบบ” เเล้ว เดินหน้ากองละครต่อเนื่องได้ตั้งเเต่ช่วงเดือนสิงหาคม ตอนนี้ก็ถือว่ากลับเข้าสู่ “โหมดปกติ” ศิลปินเริ่มมีงานอีเวนต์เเละลูกค้าหลายๆ เจ้าก็พร้อมเตรียมลุยงานปีหน้าเเล้ว
“ใจเราก็อยากโตทุกปี ไม่เคยมีเป้าตัวเลขชัดเจน ขอเเค่ไม่ต่ำกว่าเดิม ปีที่เเล้วเราจบที่ 270 ล้านบาท เเต่เมื่อเจอโรคระบาด ปีนี้ก็คงไม่โตเเน่นอน ต้องลุ้นกันว่าจะไปได้ถึงจุดไหนมากกว่า คาดว่าสินปีนาดาวคงทำรายได้ไม่เกินที่ 230 ล้าน”
ผู้กำกับสู่ผู้บริหาร : มุมมองที่เปลี่ยนไป
“จริงๆ ผมก็อยากกลับไปเป็นผู้กำกับนะ เเต่ก็ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้บริหารเยอะมาก เรานิ่งขึ้น ได้ใช้สกิลหลายๆ อย่างไปจัดการงานในเชิงสร้างสรรค์”
“ไม่ได้ชอบงานบริหาร ไม่ได้อินขนาดนั้น เเต่ถามว่าสนุกไหม ก็สนุกมาก ตลอด 11 ปีที่ผ่านมามีช่วงเครียด มีปัญหารุมเร้า เเต่เพราะได้ทำงานที่เราชอบ กับคนที่เราอยากทำงานด้วย จึงกลายเป็นความท้าทายเวลาต้องลงไปเเก้ปัญหา ด้วยความที่เราเป็นผู้กำกับก็ทำให้เห็นภาพรวม ก็เลยช่วยให้ทำงานบริหารได้”
เเม้กลุ่มผู้ชมของนาดาวส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น “มัธยม–มหาลัย” เเต่เวลาทำงานคอนเทนต์จะต้องมองให้ครบทุกเจเนอเรชัน ผลักดันให้ไปถึงทุกกลุ่ม อย่างเช่น ตอนทำละคร “เลือดข้นคนจาง” เเรกๆ จะดันศิลปิน 9by9 เเต่เราก็ต้องเล่าเรื่องให้คนเข้าถึงเยอะที่สุด “เเต่ก่อนเราทำหนังทำซีรีส์มา เเม่เราไม่เคยได้ดูเลย เราก็เลยอยากทำเลือดข้นฯ ให้เเม่ดูบ้าง”
โดยได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ชมในทุกช่องทาง เช่นการอ่านคอมเมนต์ใน “ทวิตเตอร์” ซึ่งเขามองว่าเป็นฟีดเเบ็กที่สดเเละจริง เพราะคนดูเเล้วรู้สึกอย่างไรก็ทวีตออกมาเลย
“ผมสนใจคำติมากกว่าคำชมด้วยซ้ำ เพราะเราจะได้รู้ทิศทางว่าควรพัฒนางานเราต่อไปยังไง”
ในวันที่ “ย้ง-ทรงยศ” ขยับจากผู้กำกับมาเป็นผู้บริหาร เเละนาดาวประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เขาก็เริ่มภารกิจ
“ส่งไม้ต่อ” ให้กับผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับละคร ฉลาดเกมส์โกง เเละ บอส–นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน, Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ เเละแปลรักฉันด้วยใจเธอ
“การปั้นคนทำงานยังเป็นความท้าทายของเราอยู่ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมาถึงวันที่นาดาวมีพนักงาน 50 คน จากจุดเริ่มต้น 7-8 คน ตอนนี้มองว่าการที่เราจะไปต่อได้ไกลๆ ยังไงก็ต้องสร้างคนทำงาน จะสร้างเเค่ศิลปินไม่ได้ นาดาวจะพยายามเดินไปในเส้นทางที่ทำงานในปริมาณที่เราทำได้ดี อยู่มือเเละควบคุมภาพได้ต่อไป”