ธนาคารกรุงเทพน้อมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2563 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 54 ณ วัดมหาชัย พระอารามหลวง วัดคู่บ้านคู่เมือง จ. มหาสารคาม รวมพลังศรัทธาจากหน่วยงานราชการ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมสืบสานพุทธศาสนา พร้อมทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทั้งภายในและภายนอก ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร่วมสร้างห้องน้ำใหม่ถวายวัดเพิ่มเติม
เวลา 10.00 น. วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2563 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) น้อมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2563 แด่พระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ต่อเนื่องเป็นปีที่ 54 ณ วัดมหาชัย พระอารามหลวง อำเภอมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งประธานอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานถวายในครั้งนี้ นำโดย นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ กรรมการธนาคาร นายอมร จันทรสมบูรณ์ กรรมการธนาคาร นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการธนาคาร นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการธนาคาร ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และนายอภิชาต รมยะรูป ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ ตามลำดับ
โอกาสนี้ คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารและพนักงาน ธนาคารกรุงเทพ พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยราชการจังหวัดมหาสารคาม นำโดย นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ข้าราชการผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ และประชาชนในพื้นที่ให้เกียรติร่วมในพิธี โดยพลังศรัทธาของพนักงาน ลูกค้า และประชาชนผู้มีจิตกุศลได้ร่วมทำบุญกฐินพระราชทาน ประจำปี 2563 รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 13,675,306 บาท
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้รับสนองพระมหากรุณาธิคุณน้อมนำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังพระอารามหลวง หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2510 เป็นเวลายาวนานต่อเนื่องเป็นปีที่ 54 เพื่อร่วมธำรงไว้ซึ่งความสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และด้วยหวังแบ่งเบาพระราชภาระและถือเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ให้เป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุสามเณรที่มีศรัทธา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
สำหรับ วัดมหาชัย พระอารามหลวง ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมหาสารคาม เดิมชื่อ “วัดเหนือ” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2408 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก ร่วมกับประชาชนชาวมหาสารคามช่วยกันสร้างขึ้นให้เป็นวัดประจำเมือง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา มีพระยาครูสุวรรณดี ศีลสังวร เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และ พระเทพสิทธาจารย์ (น้อย ญาณวุฑฺโฒ) เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม เจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2472 ท่านเจ้าคุณพระสารคามมุนี (สาร พุทธฺ ภวภูตานนท์ ณ มหาสาคาม) เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคามและเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น ได้ขอเปลี่ยนชื่อจากวัดเหนือมาเป็น “วัดมหาชัยมหาสารคาม” เพื่อให้เป็นการถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 วัดมหาชัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย รวมทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้ส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม อัญเชิญมาทอดถวายเป็นประจำทุกปี
พุทธศักราช 2509 ท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) พระเถระชั้นผู้ใหญ่อันเป็นที่นับถือยิ่งของชาวมหาสารคาม อุทิศตนเพื่อการศึกษาและพระศาสนา จนได้รับการยกย่องเป็น “นักปราชญ์แห่งภาคอีสาน” ได้ดำเนินการก่อสร้างหอสารคามมุนีเพื่อเป็นอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิและประดิษฐานรูปหล่อท่านเจ้าคุณพระสารคามมุนี รวมถึงใช้ความรู้ด้านภาษาที่ศึกษาอักขระโบราณจนชำนาญ สามารถอ่านเขียนอักษรขอม ลาว ไทยน้อย ได้อย่างแตกฉาน และรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน วรรณกรรมพื้นถิ่น จากคัมภีร์โบราณ เอกสารใบลานต่างๆ จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ณ วัดมหาชัยแห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลสำหรับผู้สนใจอันเป็นประโยชน์ยิ่งมาจนปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ ธนาคารกรุงเทพได้จัดสรรเงินทำบุญจากผู้มีจิตศรัทธาราว 7.5 ล้านบาท แบ่งเป็น 7.2 ล้านบาท สำหรับบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดมหาชัย พระอารามหลวง ทั้งภายในและภายนอก อาทิ ซ่อมแซมโครงสร้างหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ทาสีภายในและภายนอกพระอุโบสถ ปูพื้นหินแกรนิตภายในและระเบียงภายนอกพระอุโบสถ เทพื้นทางเดินรอบพระอุโบสถ ปิดทององค์พระประธานและทำฐานชุกชี บูรณะรูปปั้นยักษ์บริเวณหน้าพระอุโบสถ รวมถึงการซ่อมแซมปรับปรุงพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อยู่ภายในบริเวณวัด และสร้างห้องน้ำใหม่ให้วัดมหาชัยเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังใช้งบอีกเกือบ 3 แสนบาท เพื่อมอบทุนเป็นสาธารณประโยชน์ให้กับโรงพยาบาล โรงเรียน รวมทั้งชมรมและมูลนิธิต่างๆ ภายในจังหวัดอีกด้วย