กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับเอกชน 600 บริษัท จัดงานมหกรรม BGJF Special Edition – On Ground to Online Exhibition ครั้งแรกที่จัดงานเทรดดิ้งอัญมณีออนไลน์ผ่านภาครัฐ เปิดพื้นที่ให้ผู้ค้ารายกลางถึงรายย่อยมีช่องทางขาย หลังตลาดค้าอัญมณีปีนี้ติดลบแล้ว 10% จากเศรษฐกิจฝืดทั่วโลก ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระวัง เน้นซื้อสินค้าชิ้นเล็กราคาย่อมเยา
“สมเด็จ สุสมบูรณ์” อธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แถลงการจัดงาน BGJF Special Edition – On Ground to Online Exhibition ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2563 โดยเป็นงานมหกรรมจัดแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรูปแบบออนไลน์ครั้งแรกที่รัฐจัดขึ้น จากปกติจะจัดงานออกร้านแบบออฟไลน์ปีละ 2 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์และกันยายนของทุกปี
โดยปีนี้มีความจำเป็นต้องปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ชาวต่างชาติยังไม่สามารถบินเข้าประเทศได้อย่างอิสระ การจัดงานจึงจะไปอยู่บนแพลตฟอร์มเว็บไซต์ www.bkkgems-vts.com แทน ลักษณะคล้ายกับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ แต่รวบรวมเฉพาะสินค้าอัญมณี-เครื่องประดับจากบริษัทไทย 600 บริษัทไว้ให้ผู้ซื้อเลือกสรร และเป็นช่องทางให้พูดคุยระหว่างกันผ่านแชทหรือวิดีโอคอลได้
ทั้งนี้ ปกติบริษัทใหญ่จะมีช่องทางเทรดดิ้งออนไลน์ของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นงานครั้งนี้จะตอบโจทย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลางถึงรายย่อยได้ตรงจุด โดยประเมินว่าใน 600 บริษัท มีผู้ค้าราว 70% ที่เป็นรายกลางรายย่อย และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ภายในงาน มีการจัดสัมมนาให้ความรู้การใช้แพลตฟอร์มก่อนถึงวันงาน พร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพส่นกลางที่กรมฯ ไว้ให้ใช้งาน รวมถึงมีล่ามแปลภาษาด้วย
สมเด็จกล่าวว่า งานครั้งนี้ตั้งเป้ามียอดขายเกิดขึ้นภายในงานราว 1,200 ล้านบาท โดยขณะนี้มีผู้ซื้อต่างประเทศที่สนใจลงทะเบียนแล้วกว่า 230 บริษัท ส่วนใหญ่มาจากทวีปยุโรป ประเทศอินเดีย และประเทศจีน คาดว่าจะมีการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 1,000 คู่ และผู้เข้าชมสินค้าไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย
ปี’63 ตลาดอัญมณีหด 10% คาดต่อเนื่องถึงปีหน้า
สำหรับสถานการณ์ตลาดอัญมณีไทยปีนี้ สมเด็จให้ข้อมูลว่า หากรวมตลาดทั้งทองคำ อัญมณี และเครื่องประดับเติบโต 1% แต่ถ้าตัดทองคำออก นับเฉพาะกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ปีนี้ตลาดหดตัวแล้ว 10% (ข้อมูลปี 2562 ประเทศไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมทองคำมูลค่าถึง 4.86 แสนล้านบาท) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักทั่วโลก ผู้บริโภคไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าที่ถูกมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย
สถานการณ์เช่นนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2564 แต่สมเด็จหวังว่าช่วงปีหน้าการเดินทางระหว่างประเทศจะผ่อนคลายได้บ้าง โดยประเทศไทยอาจมี Travel Bubble กับบางประเทศที่ปลอดภัย เพื่ออย่างน้อยทำให้กลุ่มอัญมณีได้จัดงาน BGJF แบบ On Ground ตามปกติในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศได้หลักหมื่นล้านบาท
ด้าน “สุริยน ศรีอรทัยกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้ เจมส์ จำกัด ฉายภาพย้อนหลังของธุรกิจอัญมณีว่า เปรียบเหมือนแชมเปี้ยนที่ถูกหมัดน็อกกลางอากาศ เพราะธุรกิจกำลังเป็นขาขึ้นแต่เมื่อเผชิญ COVID-19 ทำให้หยุดชะงักทันทีในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ก่อนจะค่อยฟื้นตัวช่วงมิถุนายน และการขายในประเทศกลับมาคึกคักขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถือว่ากลับมาดีดังเก่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทจะมีแรงจัดโปรโมชันเพื่อดึงลูกค้าเข้ามา ทำให้ขณะนี้บางโรงงานยังไม่กลับมาทำงานตามปกติ ต้องหยุดชั่วคราวหรือเปิดงานเพียง 3 วันต่อสัปดาห์
เทรนด์ซื้อเครื่องประดับถูกลง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ข้อมูลเพิ่มว่า หลังจากเกิด COVID-19 เทรนด์การซื้อขายเครื่องประดับพบว่า กลุ่มเครื่องประดับราคาไม่สูงในหลัก 5,000-50,000 บาทมาแรงขึ้น แทนที่กลุ่มราคาหลักแสนบาทขึ้นไป มองว่าเป็นเพราะผู้ที่มีกำลังซื้อมีความระมัดระวังการใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ก็ยังมีความต้องการของใช้สวยงาม จึงเลือกลดงบมาซื้อเครื่องประดับราคาย่อมเยาลง โดยกลุ่มสินค้านี้มักจะเป็นกลุ่มเครื่องประดับประเภททองคำขาวและเงิน
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเทรนด์การหันมาซื้อเครื่องประดับชิ้นเล็กราคาไม่แพง ก็ยังไม่สามารถชดเชยตลาดรวมได้ โดยเฉพาะถ้าหากมองภาพการส่งออก จะเห็นได้ว่าตลาดอื่นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมีการระบาดระลอกสองจนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ดังนั้น บริษัทใหญ่ที่มีฐานผลิตในไทย เช่น Pandora, Louis Vuitton จะยังไม่มีการสั่งสินค้าไปสต๊อกรอวางขายในต่างประเทศ เป็นเหตุให้ยอดส่งออกต่ำลง
นาทีนี้ไทยจึงต้องช่วยไทยกันเอง โดยสุริยนกล่าวขอเชิญชวนให้คนไทยที่ยังมีกำลังซื้อเข้าซื้ออัญมณี เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องประดับสวยงามแล้ว ยังเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างหนึ่งเทียบได้กับทองคำ เหมาะกับช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนเช่นนี้