ย้อนไปเมื่อปี 2014 ที่ ‘ฮ่องกง’ มีเหตุการณ์การประท้วงเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิการแสดงออกทางการเมือง และแน่นอนว่าเมื่อเกิดการประท้วงนั้นทำให้มีความแออัดของผู้ชุมนุม ส่งผลให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็จะตัด ๆ ขัด ๆ หน่อย ดังนั้นผู้ร่วมชุมนุมจึงต้องหา ‘เทคโนโลยี’ ใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารกันหากไม่มีสัญญาณ ซึ่งนั่นก็คือ แอป ‘ไฟร์แชต’ (FireChat)
FireChat คืออะไร
FireChat คือ แอปพลิเคชันแชทที่สามารถใช้งานผ่าน Multipeer Connectivity Framework โดยใช้ระบบ Mesh Network หรือ Bluetooth โดยผู้ใช้จะสามารถสื่อสารกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ในระยะ 10 เมตรได้อย่างลื่นเพียงแค่เปิด WiFi และ Bluetooth ไว้เท่านั้น แถมยังส่งรูปได้อีกด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะอับสัญญาณแค่ไหน หรือว่าไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะการชุมนุมที่แออัดเกินไปเราก็จะยังสามารถแชทกับเพื่อนได้ นอกจากนี้ ยิ่งมีการใช้งานเยอะ สัญญาณก็ยิ่งขยายไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถดังกล่าว ส่งผลให้แอปนี้จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง โดยมียอดดาวน์โหลดกว่าแสนครั้งเลยทีเดียว
จาก FireChat สู่ Telegram ที่ปลอดภัยยิ่งกว่า
หากใครติดตามสถานการณ์การชุมนุมของไทยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาคงต้องได้ยินชื่อแอป ‘เทเลแกรม’ (Telegram) แอปพลิเคชันแชทที่เหมือนกับ FireChat แต่ที่โดดเด่นสุด ๆ ก็คือ ระบบรักษา ‘ความปลอดภัย’ เพราะเนื่องจากทีมนักพัฒนาชาวรัสเซียทั้ง 3 คน ได้แก่ นิโคไล ดูรอฟ, พาเวล ดูรอฟ และอักเซล เนฟฟ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาแอปที่แม้แต่ ‘สายลับรัสเซีย’ ไม่สามารถ ‘แฮก’ ได้ ส่งผลให้ 7 ปีที่แล้ว Telegram จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
สำหรับสิ่งที่ทำให้ Telegram มีความปลอดภัยขั้นสุดนั้นก็เพราะไม่เคยอนุญาตให้บุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ โดยแอปจะมีการ End-To-End Encryption หรือเข้ารหัสตั้งแต่ ‘ผู้ส่งข้อความ’ และ ‘ผู้รับข้อความ’ ทำให้ยากที่จะทำ Hack ระบบ อีกทั้งผู้ใช้งานสามารถเลือกว่าจะคุยแบบ ‘ทั่วไป’ หรือคุยแบบ ‘ลับสุดยอด’ (Secret Chat) โดยการแชทแบบลับสุดยอดนั้น จะต้องรอให้อีกฝ่ายออนไลน์ถึงจะเริ่มต้นแชทได้ แต่ถ้าคุยแบบทั่วไปก็สามารถทำได้เลย
เนื่องจากความต้องการของผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานเป็นเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง แอปจึงไม่มีโฆษณา ไม่มีการแอบอ่านข้อความ ไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว และทำงานได้เร็วมาก ๆ เร็วกว่า LINE หรือ Facebook Messenger นอกจากนี้ ยังส่งได้ทั้งข้อความ ไฟล์ภาพ วิดีโอ ไฟล์ Doc, zip, mp3 ฯลฯ โดยไม่จำกัดขนาดไฟล์
ด้วยความสามารถของฟีเจอร์ต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบัน Telegram มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และเป็นอีกหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ถูกนำมาใช้งานในหมู่กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลในหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่มักใช้ในการนัดหมายต่าง ๆ เช่น เดินขบวนประท้วง ดังนั้น หลายประเทศจึงต้องการที่จะ ‘แบน’ แอปดังกล่าว รวมถึง ‘รัสเซีย’ ต้นกำเนิดของแอปนี้ แต่ผ่านไป 2 ปีแล้ว ก็ยังแบนไม่สำเร็จ
ไม่มี Telegram ยังอีกเพียบที่แชทได้ไม่ง้อเน็ต
อีกหนึ่งแอปพลิเคชันแชทที่เหมาะสำหรับการใช้งานในช่วงที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็คือ Bridgefy โดยวิธีการทำงานก็คล้าย ๆ แอปอื่นคือ ใช้ระบบ ‘Bluetooth Mesh System’ ค้นหาคนที่ใช้แอปพลิเคชันเดียวกันในระยะรัศมี 100 เมตร และเชื่อมต่อเข้าใช้งานร่วมกัน และใช้หลักการเดียวกันในการกระจายส่งต่อข้อความไปรอบ ๆ แต่จุดด้อยคือเป็นห้องส่งข้อความสาธารณะ ทำให้ถูกอ่านจากใครก็ตามที่อยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ข้อดีคือ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวผู้ส่ง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแอปแชทที่ใช้งานได้โดยไม่มีอินเทอร์เน็ต อาทิ Briar และ AliveShare