เจาะลึกแพลตฟอร์ม ‘Telegram’ ทางเลือกใหม่ ‘โฆษณาออนไลน์’ จับกลุ่มนักลงทุนคริปโตฯ

ปัจจุบันนี้ การยิงโฆษณาออนไลน์ของแบรนด์ส่วนใหญ่คงวนอยู่กับแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Google, Instagram หรือ Twitter แต่หลายคนน่าจะเริ่มรู้ถึงปัญหาโดยเฉพาะกับแพลตฟอร์ม Facebook ที่เริ่มกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ยากขึ้นสวนทางกับราคา ทำให้หลายคนเริ่มหันไปมองหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และที่กำลังน่าสนใจคือ Telegram (เทเลแกรม)

หากพูดถึงแพลตฟอร์ม Telegram แน่นอนว่าไม่ใช่แพลตฟอร์มที่แมสเหมือนกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ขณะที่ไทยเองเพิ่งจะมารู้จักในช่วงที่มีการชุมนุมเมื่อ 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ชุมนุมนิยมใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน เพราะด้วยหลาย ๆ ฟีเจอร์ที่เอื้อ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานโดยไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงความปลอดภัยที่มากกว่า

ทำความรู้จัก ‘Telegram’ อาวุธสามัญประจำม็อบ และอีก 4 แอปแชทไม่ง้อเน็ต

สำหรับไทย Telegram อาจไม่ได้แมสมาก แต่ทั่วโลกกลับเป็นแพลตฟอร์มที่มาแรง ซึ่งหากจำกันได้เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่แพลตฟอร์ม Facebook ล่ม แอป Telegram ก็กลายเป็น 1 ใน 2 แอปฯ สนทนาที่ชาวเน็ตหลายล้านคนแห่ดาวน์โหลด โดยในปี 2021 Telegram มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกเป็นอันดับ 1 เติบโต 25% ทุกปี ปัจจุบันมีกว่า 500 ล้านครั้ง แบ่งเป็น

  • เพศชาย 67% เพศหญิง 33%
  • อายุ 25-34 ปี จำนวน 38%
  • อายุ 18-24 ปี จำนวน 17%
  • อายุ 35-44 ปี จำนวน 17%

จากความนิยมในทั่วโลก บริษัท แมคฟิว่า จำกัด (MCFIVA) ที่ปรึกษากลยุทธ์และสื่อดิจิทัลเลยจับ Telegram มาบุกตลาดโฆษณาเป็นเจ้าแรกในไทย โดยหวังเน้นจับกลุ่ม คริปโตเคอร์เรนซี เพราะคริปโตฯ ถือเป็นหัวข้อสนทนายอดฮิตใน Telegram เนื่องจากแพลตฟอร์มมีความปลอดภัยสูง สามารถกำหนดเวลาส่ง รวมถึงลบข้อความได้ และส่งไฟล์รูปแบบใดก็ได้ในขนาดถึง 2 GB

เราคาดว่าคนไทยราว 5-10% ที่ใช้งาน Telegram แม้จะน้อยอยู่แต่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับ C-level มีเงินเดือนสูง ส่วนใหญ่คุยเรื่องหุ้นเรื่องการลงทุนเพราะปลอดภัยกว่า โดยการเติบโตของเทเลแกรมค่อนข้างล้อกับตลาดคริปโตฯวรัชญา อุรุพงศา Chief Digital Officer บริษัท แมคฟิว่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

(Photo by Carl Court/Getty Images)

เบื้องต้น แมคฟิว่ามองว่าจากกลุ่มการใช้งานที่เน้นคุยเรื่องเกี่ยวกับการเงิน ดังนั้น มองว่าลูกค้ากลุ่มแรกจะเป็นแบรนด์สินค้าในกลุ่มการเงิน เช่น ธนาคารต่าง ๆ และแพลตฟอร์มคริปโตฯ ซึ่งปัจจุบันแมคฟิว่ามีลูกค้า 3 ราย ได้แก่ Zipmex, Killswitch และ Avareum ซึ่งเป็นแบรนด์เกี่ยวกับคริปโตฯ

นอกจากเรื่องการเงินแล้ว หัวข้อการสนทนายอดฮิตอื่น ๆ ของ Telegram จะเป็นเรื่องไอที 47%, ดนตรี 46% และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 42% โดยแมคฟิว่ามีเครือข่ายของกลุ่มบน Telegram (Telegram Channel Network) ที่สามารถเลือกกลุ่ม (Channel) ได้ตามต้องการ เช่น หมวดคริปโตฯ, หมวดธุรกิจ, หมวดการเงินและการลงทุน เป็นต้น

สำหรับรูปแบบของการโฆษณา จะเป็นการยิงข้อความจากแอดมินกลุ่มในกลุ่มแชทนั้น ๆ ดังนั้น การสื่อสารจะตรงกลุ่มเป้าหมาย และถ้าเทียบ Engagement Rate แล้ว โฆษณาบน Telegram จะอยู่ที่ 15-40% ขณะที่การใช้ KOL (Key Opinion Leader) อยู่ที่ 10-20% ขณะที่ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ประมาณครึ่งหนึ่ง

พิรีญา วิริยะพันธุ์ (ขวา) – วรัชญา อุรุพงศา (ซ้าย)

อย่างไรก็ตาม พิรีญา วิริยะพันธุ์ Chief Operating Officer ยอมรับว่า Telegram ไม่ได้แมสเหมือนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เป็นแพลตฟอร์มเฉพาะกลุ่ม จึงไม่ได้มาแทนแพลตฟอร์มแมสอย่าง Facebook ดังนั้น แผนระยะสั้นคือการสร้างความเข้าใจของ Telegram ว่าทำอะไรได้บ้าง และจะสามารถใช้ประโยชน์กับมันได้อย่างไร

ทั้งนี้ แมคฟิว่า ตั้งเป้าสร้างรายได้มากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปในปีหน้า โดยไม่ได้มองแค่ตลาดในไทยอย่างเดียว แต่มองเป็นตลาดโลก และมองว่าสามารถจับได้หลายอุตสาหกรรม