คนไทยหลัง COVID-19 ลดซื้อ “ขนม-เครื่องดื่ม” จำนวนครั้งลด 6% ซื้อถูกลงถึง 52%

Kantar เปิดข้อมูลผู้บริโภคต่อสินค้ากลุ่ม “ขนม-เครื่องดื่ม” หลังเกิดสถานการณ์ COVID-19 พบว่า คนไทยมีการซื้อสินค้ากลุ่มนี้ลดลง หากคิดเป็นจำนวนครั้งลดลง 6% และราคาซื้อต่อหน่วยลดลงถึง 52% กลุ่มที่ยังรอด  “ไอศกรีม-ฟังก์ชันนัลดริ้งก์” และสินค้าที่ “ดีต่อสุขภาพ”

Kantar (คันทาร์) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาการตลาด เก็บข้อมูลผู้บริโภคทั่วประเทศไทย โดยเจาะกลุ่มคนเมือง (urban) เป็นหลัก แบ่งการเก็บข้อมูลเป็น 2 ช่วง คือช่วงก่อน COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 62 – 23 ก.พ. 63 กับช่วงหลัง COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 63 – 16 ส.ค. 63 พบข้อมูลการซื้อสินค้ากลุ่ม “ขนม-เครื่องดื่ม” ที่น่าสนใจดังนี้

1) การซื้อต่อวันลดลง จาก 11.7 ล้านครั้ง เหลือ 10.9 ล้านครั้ง หรือลดลงประมาณ 6%
2) ผู้บริโภคลดราคาที่ซื้อต่อหน่วยหรือต่อปริมาณลง 52%
3) สินค้าที่ทำยอดขายได้ยากขึ้น ได้แก่ ลูกอม หมากฝรั่ง ถั่วและเมล็ดพืช ปลาเส้น สาหร่าย น้ำดื่ม โยเกิร์ตพร้อมดื่ม นม เอเนอร์จี้ดริ้งก์ รังนก และ ซุปไก่สกัด
4) สินค้าที่ทำยอดขายได้ดีขึ้น ได้แก่ ไอศกรีม ฟังก์ชันนัลดริ้งก์ น้ำอัดลม และ สปอร์ตดริ้งก์

โดยเฉพาะไอศกรีมและฟังก์ชันนัลดริ้งก์นั้นมาแรงมาก โดย Kantar พบว่า ไอศกรีม ที่ขายดีมีเทรนด์สำคัญอยู่ 2 อย่างคือไอศกรีม “Taste of Thai” ออกรสชาติใหม่สไตล์ไทยๆ และไอศกรีม “Guilt Free” ทานแล้วไม่รู้สึกผิดต่อสุขภาพ

ส่วน ฟังก์ชันนัลดริ้งก์ นั้นขายดีถล่มทลายช่วงหลังเกิด COVID-19 มีการซื้อเพิ่มขึ้น 50 ล้านครั้ง ฐานผู้ซื้อเพิ่มขึ้น 4 ล้านคน เพราะเป็นเทรนด์ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มสุขภาพ โดยมีคีย์เวิร์ดหลักคือการเป็นเครื่องดื่ม “Low Sugar” ลดปริมาณน้ำตาลไปจนถึงไม่มีน้ำตาล และยิ่งตอบสนองได้ดีขึ้นอีกเมื่อมีคุณประโยชน์อื่นๆ เพิ่ม

ฟังก์ชันนัลดริ้งก์คือตลาดดาวรุ่งประจำปีนี้

สำหรับกลยุทธ์ในช่วงนี้ แนะนำนักการตลาดอาจต้องหาทางให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรม “Up-Size” ยอมเพิ่มราคาต่อหน่วยในการซื้อ โดยแบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ข้อมูลจาก Kantar สอดคล้องกับแบรนด์ใหญ่ในตลาด โดยก่อนหน้านี้ “ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล” Chief Marketing Officer-Brand บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด คาดการณ์ว่าพอร์ตนอนแอลกอฮอล์ของสิงห์ที่ประกอบด้วยน้ำดื่ม น้ำแร่ โซดา และน้ำอัดลมเลมอนโซดาตัวใหม่ รวมแล้วจะเติบโตได้เพียง 2% ในปีนี้ เพราะช่วงล็อกดาวน์ทำให้ตลาดรวมติดลบ เนื่องจาก “น้ำขวด” เป็นสิ่งที่คนมักจะซื้อดื่มนอกบ้าน เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ยอดขายจึงเดินยาก

อย่างไรก็ตาม น้ำอัดลมเลมอนโซดาแบบไม่มีน้ำตาลของสิงห์จะเป็นดาวรุ่งตัวใหม่ จับตลาดน้ำกลุ่ม 0cal ที่โต 30-40% ทุกปี และแม้จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ก็ยังไม่หยุดโต

ปีนี้สินค้าในกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ของสิงห์คาดว่าจะโตเพียง 2% แต่มีดาวรุ่งคือเลมอนโซดาแบบไม่มีน้ำตาล ส่งสินค้าออกมาตีตลาดที่กำลังอินเทรนด์รักสุขภาพ

ด้าน บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินครึ่งปีแรก 2563 ตลาดเครื่องดื่มทั้งหมดติดลบ 7% การเติบโตกลับตาลปัตรเมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งปีเติบโต 9% ปีนี้อาการหนักที่สุดคือตลาดชาพร้อมดื่ม ติดลบ 13% สปอร์ตดริ้งก์ ติดลบ 13% และตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด ติดลบ 12%

ส่วนกลุ่มที่ได้อานิสงส์ก็สอดคล้องกับข้อมูลวิจัย คือกลุ่มฟังก์ชันนัลดริ้งก์อย่าง “C-Vitt” โดย บมจ.โอสถสภา รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาส 2/63 ว่าเครื่องดื่มแบรนด์นี้เติบโตถึง 11.9% YoY ส่วนตลาดรวมฟังก์ชันนัลดริ้งก์ก็เติบโต 6.6% YoY

ดูเหมือนคีย์เวิร์ดของปีนี้คือการพัฒนาสินค้า “ดีต่อสุขภาพ” ออกมาจับตลาดโดยไว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มหรือของกินเล่น เพราะใครๆ ก็อยากรักษาหุ่นและรู้สึกว่าได้ดูแลตัวเองผ่านการกินนั่นเอง