MIT ประเมินปี 2020 องค์กรต่างๆ ทั่วโลกลงทุนใน AI เกิน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันมีเพียง 10% ขององค์กรที่สำรวจที่ตอบว่าตนได้ประโยชน์ทางการเงินแล้วจากการลงทุน AI หลายบริษัทพบว่าโครงการ AI พัฒนาให้สำเร็จได้ยากกว่าที่คาด
MIT Sloan Management Review ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) จัดสำรวจบริษัท 3,000 แห่งเกี่ยวกับการลงทุนใน AI หรือ Artificial Intelligence พบว่า ปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุนใน AI รวมกันกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 10% ของบริษัทที่สำรวจที่กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับผลประโยชน์ทางการเงินแล้วจากการลงทุนใน AI
“เราเห็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการลงทุนในเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่มากขึ้นด้วย” Shervin Khodabandeh หัวหน้าร่วมของฝ่ายธุรกิจ AI ภูมิภาคอเมริกาเหนือ BCG กล่าว “แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก”
ที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ มีการลงทุนใช้ AI ด้วยเม็ดเงินที่สูงและอันตรายมาก โดยพยายามจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับทุกอย่าง ตั้งแต่การจัดการสัญญาไปจนถึงผู้ช่วยภายในบ้าน แม้กระทั่งรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดย IDC คาดการณ์ว่าปี 2020 นี้จะมีการลงทุนใน AI ด้วยเม็ดเงินมากกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมากเทียบกับปี 2019 ที่มีการลงทุน 3.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ด้วยว่าการลงทุนจะมากขึ้นต่อเนื่อง จนปี 2024 คาดว่าจะมีการลงทุนใน AI ถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
การพัฒนา AI ให้สำเร็จ…ยากกว่าที่คาดคิด
แม้ว่าจะมีเงินลงทุนหลายพันล้านในเทคโนโลยี AI แต่โครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เริ่มมีผลต่อการลงทุนมากขึ้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น IBM ที่เริ่มให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี Watson น้อยลง หลังจากเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้กับโครงการด้านเนื้องอกวิทยา มีผู้ลงทุนรวมกันกว่า 62 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับกลายเป็นว่า Watson แนะนำการรักษาโรคมะเร็งที่ไม่แม่นยำ
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ Amazon มีการยกเลิกการพัฒนาเครื่องมือรับสมัครงานโครงการหนึ่งไปแล้ว หลังจากโครงการนี้แสดงผลว่า AI มีอคติทางเพศ นอกจากนี้ บริษัทขนาดเล็กกว่าอื่นๆ ต่างพบว่าการนำ AI มาใช้ในโครงการต่างๆ นั้นยากเย็นกว่าที่คาด แม้จะนำมาใช้ในงานที่ไม่ซับซ้อนมากอย่างการเป็นผู้ช่วยเสมือนจริงทำการนัดหมายลงปฏิทิน ทำให้ต้องกลับไปใช้คนกันอีกครั้ง
Khodabandeh กล่าวว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทพัฒนาโครงการ AI ไม่สำเร็จ เป็นเพราะบริษัททุ่มเงินไปกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ข้อมูล แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินธุรกิจให้รับประโยชน์จาก AI
ยกตัวอย่าง Uber เดือนก่อนนี้กลุ่มวิศวกรของบริษัทพบว่า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของพวกเขาเดินทางไปได้ไม่เกินครึ่งไมล์ก็จะต้องพบปัญหาเข้าสักอย่างหนึ่ง โปรแกรม AI ของพาหนะนี้ “ยังคงพยายามเรียนรู้ขั้นตอนและคู่มือง่ายๆ” โดยมีรายงานเหตุผลความผิดพลาดภายในบริษัทว่า เป็นเพราะทีมก็ยังแข่งขันกันเองภายในว่าจะนำเทคโนโลยีไปปรับใช้กับรถยนต์อย่างไร
แต่ด้วยความหวังจาก AI ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาขนานใหญ่ในธุรกิจ ทำให้องค์กรต่างๆ ไม่มีแนวโน้มจะหยุดลงทุนในเทคโนโลยีในเร็วๆ นี้ โดยผลสำรวจของ MIT และ BCG พบว่า บริษัทถึง 57% มีการเริ่มทดลองนำร่องโครงการ AI ของตัวเองแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 44% ในปี 2018
Khodabandeh แนะนำว่า เหล่าผู้รับเอาเทคโนโลยี AI ไปใช้งาน ต้องคิดใหม่ทำใหม่ว่าจะนำเทคโนโลยีนี้ปรับใช้เข้ากับธุรกิจตัวเองให้เหมาะสมได้อย่างไร จึงจะทำให้โครงการที่อุตส่าห์ทุ่มเม็ดเงินลงไปสำเร็จได้จริง