หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ Podcast แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ซึ่ง Podcast ไม่ได้เป็นเพียงออดิโอคอนเทนต์ แต่เป็นมีเดียเอนเตอร์เทนเมนต์ที่เผยแพร่เสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีลักษณะคล้าย ๆ รายการวิทยุ ที่จะมีผู้ดำเนินรายการออกมาเล่าเรื่อง พูดคุย แต่จะมีการแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอน ๆ หรือแบ่งหัวเรื่องอย่างชัดเจน โดยเนื้อหาจะมีหลากหลายแนว สามารถฟังเพลิน ๆ ระหว่างเดินทาง ทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ
COVID-19 ยิ่งดัน Podcast โต
โดยช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 การฟัง Podcast ก็เปลี่ยน โดย Spotify เจ้าของแพลตฟอร์ม Music Steaming รายใหญ่ของโลกได้ระบุว่า สัดส่วนการฟัง Podcast บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 19% และฟัง Podcast ผ่านอุปกรณ์ในบ้าน เช่น ทีวี, ลำโพง มากขึ้น ขณะที่การฟังผ่านรถยนต์และหูฟังกลับลดลง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเพราะผู้บริโภคไม่ได้เดินทางไปทำงานอีกต่อไป ขณะเดียวกัน พวกก็มักจะหาอะไรฟังเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำอาหาร, ทำงานบ้าน และเวลาที่อยู่กับครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แม้ Podcast จะเริ่มเห็นเทรนด์การเติบโต แต่ในฝั่งของ ‘แบรนด์’ Podcast เป็นสิ่งที่น่าสนใจแค่ไหน โดยภายในงาน iCreator Conference 2020 ก็ได้เชิญกูรูด้าน Podcast ได้แก่ ชินทัต พรหมโชติ จาก KooHoo Podcast, นทธัญ แสงไชย จาก Salmon Podcast และ พลสัน นกน่วม จาก GetTalks Podcast มาพูดคุยกันในหัวข้อ “การมาของ Podcast ทำไมแบรนด์ถึงควรลงทุน”
โอกาสโตเยอะ เพราะ Content กว้าง
หากย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน Podcast ถือเป็นสิ่งใหม่ที่คนยังไม่รู้จัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันคือ ผู้ฟังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับสื่อก็เริ่มหันมาผลิต Podcast มากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ก็เริ่มให้ความสนใจที่จะลงโฆษณาใน Podcast มากขึ้น และด้วยเนื้อหาคอนเทนต์ที่หลากหลาย มีทั้งรายการท่องเที่ยว, รายการคอมเมดี้ หรือแม้แต่ ‘ละครวิทยุ’ ส่งผลให้กลุ่มผู้ฟังหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Podcast ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนบางเจน เช่น วัยผู้ใหญ่ที่ยังไม่รู้จักเหมือนวัยรุ่น ดังนั้นยังมีโอกาสเติบโตได้อีก
“ตอนนี้ Podcast ไม่ได้มีแต่เรื่องมีสาระอย่างเดียว แต่เริ่มขยับเข้ามาเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งมันกว้างกว่าที่เราคิดไว้”
Content แนวพัฒนาตนเองกำลังมาแรง
ด้วยความที่คอนเทนต์มีหลากหลายมาก อาจต้องคอยอัปเดตเทรนด์การจัดอันดับ แต่ส่วนใหญ่คนไทยจะชอบเรื่องลี้ลับ การเล่าเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม ทฤษฎีสมคบคิด ธุรกิจ การตลาดธรรมะ บันเทิงและข่าว ล้วนได้รับความนิยม แต่เทรนด์ที่เห็นการเติบโตคือ รายการแนวพัฒนาตนเอง ทั้งด้านจิตใจ การเงิน และภาษา โดยเฉพาะรายการในรูปแบบรายวัน เน้นความถี่ในการนำเสนอ ที่ความยาว 18-20 นาที เพราะสามารถฟังได้บ่อยและใช้เวลาไม่นานในการฟัง
“สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่ คอนเทนต์ทุกแนวเป็นไปได้เสมอ ถ้าเกิดหามุมมองในการเล่าให้เจอ”
สิ่งที่สำคัญพอกับเนื้อหาก็คือ เวลา ที่เราต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคอนเทนต์มีความเหมาะสม คนฟังอาจรู้สึกว่ารายการยาวได้ แต่ไม่ควรทำให้เขารู้สึกว่านานเพราะนั่นหมายถึงความน่าเบื่อ ซึ่งภาพรวมของ Podcast ในไทยตอนนี้อาจไม่ใช่การเพิ่มจำนวนผู้ฟัง แต่เป็นการเพิ่มจำนวนดาวน์โหลด เพิ่มระยะเวลาการฟังให้มากขึ้น
Podcast อยู่ได้แม้กระทั่ง TikTok
ตอนนี้ Podcast สามารถขึ้นไปอยู่ได้ทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะ TikTok หรือ YouTube แถมยังมียอดวิวดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะการมาของ YouTube Premium เป็นตัวช่วยให้คนฟัง Podcast มากขึ้น เพราะสามารถปิดจอแล้ววิดีโอยังเล่น แต่ไม่ใช่ฟังอย่างเดียวในแพลตฟอร์มเดิม แต่อาจจะต้องมีการปรับเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย เช่น ใน TikTok ที่ต้องมีภาพประกอบ ดังนั้น คอนเทนต์เป็นแบบเดียวกัน แต่แค่แยกภาชนะใหม่ แม้กระทั่งหนังสือเสียงก็สามารถทำได้
แบรนด์ไม่รู้ว่า Podcast โฆษณาอย่างไร
อย่างที่รู้ว่าในอดีตคนไม่รู้จัก Podcast นั่นคือความยาก แต่ตอนนี้การทำให้แบรนด์เข้าใจว่าสามารถทำโฆษณาบน Podcast ได้แล้วคือสิ่งที่ยากกว่า เพราะแบรนด์อาจยังนึกไม่ภาพการลงโฆษณาบน Podcast ไม่ออก เพราะมีแต่เสียง แบรนด์ไม่รู้ว่าจะอยู่ตรงไหนได้บ้าง ดังนั้น ความท้าทายในปัจจุบันคือ การสร้างความรู้ให้กับแบรนด์ว่าสามารถทำโฆษณาด้วยภาพและเสียงแบบ Podcast ได้อย่างไรบ้าง ต้องทำให้เขารู้ว่า Podcast เป็นโอกาสใหม่สำหรับแบรนด์ เพราะไม่ใช่แค่การเติบโตที่ยังขยายอีกได้ แต่ Podcast สามารถไปอยู่ได้ในหลายแพลตฟอร์ม
“แม้แบรนด์เองก็เริ่มเข้าใจและเปิดใจกับการทำโฆษณาบน Podcast มากขึ้นแล้ว แต่โจทย์ใหญ่คือการทำให้แบรนด์รู้ว่าเราตอบโจทย์เขาได้อย่างไรบ้างบน Podcast เพราะภาพในวันนี้ Podcast สามารถเป็นได้ทั้งมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์”