‘G-Able’ ผนึก ‘UTC จุฬาฯ’ ติดตั้ง ‘NVIDIA DGX A100’ สำหรับใช้พัฒนา ‘AI’ รายแรกในไทย


หากพูดถึง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘AI’ (Artifact Intelligence) อาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องใหม่มาก แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แค่หยิบสมาร์ทโฟนมาถ่ายรูปก็มี AI เข้ามาช่วยโฟกัสรูปให้แล้ว และในยุคที่ ‘ข้อมูล’ หรือ Data ที่ เปรียบเสมือน ‘the new oil’ ข้อมูลกลายเป็นพื้นฐานหลักในการผลักดันเศรษฐกิจยุคดิจิทัล AI ยิ่งมีความสำคัญ เพราะต้องใช้สำหรับประมวลผลของข้อมูลที่มีมากมายมหาศาล

รู้จัก NVIDIA DGX A100™

หากจะพัฒนา AI ให้มีประสิทธิภาพที่สุด ก่อนอื่นต้องรู้จักกับ NVIDIA DGX A100™ ซี่งนับเป็น AI Infrastructure สำคัญที่ช่วยนักวิจัยในการเร่งสปีดของงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งด้านประสิทธิภาพและระยะเวลาในการเทรนนิ่งได้ และยังรองรับความต้องการของผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก

ด้วยศูนย์ข้อมูลแบบเร่งความเร็วระดับ 5-petaflop ที่ให้พลังงานและประสิทธิภาพที่จำเป็นสำหรับนักวิจัย AI โดยมีพื้นฐานบนสถาปัตยกรรมของ NVIDIA Ampere พร้อมกับบรรจุ 8 GPU A100 Tensor Core GPUs เพื่อให้หน่วยความจำ 320GB สำหรับการฝึกอบรมชุดข้อมูล AI ขนาดใหญ่การอนุมานและปริมาณงานการวิเคราะห์ข้อมูล

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยี GPU หลายอินสแตนซ์ สามารถรองรับปริมาณงานที่น้อยลงได้หลายอย่างโดยแบ่งพาร์ติชัน DGX A100 เป็น 56 อินสแตนซ์ เมื่อรวมกับประสิทธิภาพความเร็วสูงในตัว NVIDIA®Mellanox® การเชื่อมต่อเครือข่าย HDR นั้น DGX A100 ซึ่งจะสามารถตอบสนองโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นสำหรับศูนย์วิจัย

UTC หน่วยงานแรกในไทยที่ใช้ NVIDIA DGX A100™

ย้อนไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดตัว ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมจุฬาฯ (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) เป็นเวทีสำหรับการวิจัยและช่วยเหลือนักวิจัย บ่มเพาะนวัตกรรมจากเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) พร้อมกับนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่ตลาดเพื่อเป็นกลไกในการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการสร้างคนและสร้างเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย

ทั้งนี้ หนึ่งในเรื่องที่ UTC ได้พัฒนาก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเพื่อให้โครงการเกี่ยวกับการพัฒนา AI สามารถผลิตออกมาได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น NVIDIA DGX A100™ จึงถือเป็นส่วนสำคัญ โดย UTC ถือเป็นหน่วยงานแรกในไทยที่ใช้ และเป็นเพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก

“การที่จะพัฒนางานทางด้าน AI จะต้องมีเครื่องมือที่ใหญ่และมีประสิทธิภาพที่ดีพอ จึงสามารถทำงานนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงและแข่งขันในระดับนานาประเทศได้ นักวิจัยไทยมีเทคนิคไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เราจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือเพื่อไปเสริม ความสามารถเขาให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้” ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

 

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์

ปัจจุบัน UTC มุ่งเน้นในการสร้างนวัตกรรม AI และ MedTech ซึ่งการดำเนินงานด้าน AI นั้นได้เริ่มจากงานวิจัยภายในจุฬาฯ ก่อน ว่ามีงานวิจัยชิ้นไหนที่สามารถต่อยอดได้ โดยในเวลานี้ มีโครงการที่น่าสนใจคือ AI ที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยเช่น AI ที่ดึงข้อความภาษาไทยจากภาพถ่ายและวิดีโอ AI แปลงเสียงให้เป็นข้อความภาษาไทย เป็นต้น AI เพื่อการแพทย์ หรือ AI for Health เช่น AI ช่วยจำแนกประเภทย่อยของโรตหัวใจล้มเหลวจากภาพ CT-Scan AI ช่วยตรวจหาชิ้นเนื้อที่ผิดปกติที่พบจากการส่องกล้องทางเดินอาหาร AI ที่ช่วยในการทำ pre-screening สำหรับงานด้าน tele-medicine AI สำหรับภาคอุตสาหกรรม หรือ AI for Industry ที่นำงานวิจัยด้าน AI มาพัฒนาเป็นนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรม

สุเทพ อุ่นเมตตาจิต

ทั้งนี้ ทาง UTC ได้ G-Able ซึ่งเป็นหนึ่งใน Top partner ของ NVIDIA ที่มีทีมที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยติดตั้ง NVIDIA DGX A100 ให้แก่ศูนย์ โดยเริ่มติดตั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดย     สุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า “เราพร้อมสนับสนุนเพื่อให้ศูนย์ UTC ก้าวสู่ เป้าหมายทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสนับสนุนงานวิชาการเชิงลึก ส่งเสริมนักวิจัยให้พัฒนางานวิจัยสู่งานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง การติดตั้ง NVIDIA DGX A100 ในครั้งนี้ ทำให้ศูนย์ UTC มี AI Infrastructure ที่ดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้นักวิจัยทุกคนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่”