ปัจจุบันจากสภาพสภาวะสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ส่งผลให้ทักษะแรงงานในอนาคตก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน
AI เขย่าตลาดแรงงานโลก
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนทิศทางตลาดงาน เนื่องจากบางตำแหน่งงานสามารถทดแทนได้ด้วย AI
สอดรับกับรายงาน Future Jobs 2025 ที่จุฬาฯ ได้ร่วมกับ World Economic Forum จัดทำเพื่อวิเคราะห์ทิศทางตลาดงาน ในปี 2568-2573 พบว่า 5 ตำแหน่งงานสุ่มเสี่ยงโดนดิสรัปชั่นล้วนแต่เป็นงานรูปแบบดั้งเดิม (Traditional) ได้แก่
- เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์
- พนักงานธนาคารและตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง
- เจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูล
- พนักงานแคชเชียร์และพนักงานจำหน่ายตั๋ว
- ผู้ช่วยด้านงานธุรการและเลขานุการบริหาร
ส่วนอีก 5 ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ล้วนเกี่ยวโยงกับเทคโนโลยี ดังนี้
- ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data
- วิศวกรด้าน Fintech
- ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI
- นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการและความปลอดภัย
“ภายในปี 2573 สองในห้าของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง”
ทักษะที่สำคัญของไทย คือ
- ทักษะด้าน AI และ Big Data
- ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
- ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
- ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล
ทักษะสำคัญของระดับโลก คือ
- ทักษะด้าน AI และ Big Data
- ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล
- ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี
- ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
“คาดว่าจะมี 92 ล้านตำแหน่งงานที่หายไปจากโลก หรือเปลี่ยนชื่อตำแหน่งตามการปรับทักษะรูปแบบงานก็เป็นได้ แต่ก็จะมี 170 ล้านตำแหน่งงานใหม่เข้ามาทดแทนเช่นกัน”
มองแรงงานเร่งปรับทักษะ หาสิ่งที่ AI แทนไม่ได้
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อไปว่า จากปัจจัยท้าทายจาก AI ทำให้แรงงานปัจจุบันต้องเร่งอัพสกิล ขณะที่การศึกษาก็ต้องปรับการสอนให้เป็นรูปแบบบูรณาการกันระหว่างคณะมากขึ้น เพราะ ยุคนี้เน้นความรู้แบบองค์รวม (Holistic) แตกต่างจากอดีตที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialist)
“วิธีที่แรงงานจะอยู่รอดต้องปรับทักษะให้สู้ AI ได้ หรือมีในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้”
ดังนั้น จุฬาฯ จึงมุ่งหมายสู่การเป็น มหาวิทยาลัยแห่งปัญญาประดิษฐ์ (The University of AI)
โดยจะพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) เน้นพัฒนาทักษะเฉพาะทาง หรือความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบในระดับปริญญา ให้ผู้เรียนเลือกเฉพาะวิชาที่สนใจ หรือกลุ่มวิชาที่ต้องการพัฒนาความรู้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงาน หรือการพัฒนาตนเองได้ทันที ใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 6-7 เดือนให้กับผู้สนใจสาขาเฉพาะในรายคณะการศึกษา
ต่อยอดจากเดิมในหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือ ปริญญาโท ใช้ระยะเวลาเรียน 4 ปี และ 2 ปี
ปั้น ChulaGenie เจนฯ เอไอสัญชาติไทย อนาคตจ่อเปิดใช้สาธารณะ
นอกจากนี้ จุฬาฯ ได้ร่วมกับกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) พัฒนา ChulaGENIE แพลตฟอร์ม Generative AI สำหรับสนับสนุนการทำงานของบุคลากรภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทดลองใช้ในเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา
รวมไปถึงในอนาคตยังมีความเป็นไปได้ในการต่อยอดแพลตฟอร์มฯ นี้เพื่อเปิดให้บริการเชิงสาธารณะด้วย
“นอกจากทักษะด้านการใช้งานหรืออด็อปต์เอไอในฐานะยูสเซอร์แล้ว ประเทศไทยควรต่อยอดไปสู่การเป็นเจ้าของหรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนในรอบด้านตามเทรนด์โลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”