ที่เมือง Warsaw ประเทศโปแลนด์ เวลาท้องถิ่นประมาณ 3 ทุ่มหรือตี 1 ของประเทศไทย วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เสียงปรบมือดังกึกก้องขึ้นจากผู้ชมเกือบ 1 พันคนใน The Great Theatre โอเปร่าเฮาส์ขนาดใหญ่ ภาพเด็กไทย 4 คนสวมเสื้อโปโลสีชมพูพร้อมถือภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และธงชาติไทย ขึ้นรับรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดซอฟต์แวร์ Worldwide Imagine Cup 2010 จนทำให้ประเทศไทยมีตัวตนมากขึ้นในวงการ Developer
กฤตธี ศิริสิทธิ์ หรือ โอ๊ค, พิชัย โสดใส หรือ เอ็ม, ธนะสรรค์ ดิลกพินิจนันท์ หรือ เป้ และ นนทวรรธ ศรีจาด หรือ นนท์ 4 หนุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ภายใต้ชื่อทีม “SKeek” บินลัดฟ้าพร้อมความหวังที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่า
“พวกผมอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องที่คณะและนักศึกษาไทยทุกคนให้มาประกวดในเวทีระดับโลกเหมือนที่ผมเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่” เอ็ม เอ่ยถึงทีม “3 KC Returns” ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในคณะเดียวกันที่ได้รางวัลชนะเลิศจากเวทีนี้เมื่อปี 2007 จึงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากแสดงผลงานของตัวเองในเวทีนี้เช่นกัน โดยเขาและเพื่อนอีก 2 คนคือ เป้ และ นนท์ ไม่เคยผ่านเวทีประกวดซอฟต์แวร์ใดมาก่อน แต่เมื่อได้รับคำชวนจาก โอ๊ค ซึ่งเคยผ่านเวทีนี้มาแล้วในปี 2008 ก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจ “ลอง” ดูสักตั้งเพราะรู้สึกท้าทายและยังเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน
โอ๊คที่เคยผ่านเข้ารอบ 68 ทีมสุดท้ายในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 2 ปีที่แล้วบอกกับ POSITIONING ว่าเขาต้องการแก้ตัวจากคราวก่อนจึงได้ชักชวนเพื่อนทั้ง 3 คนมารวมตัวภายใต้ชื่อทีมสุดแปลกว่า “SKeek” ที่ย่อมาจาก SKE : Software and Knowledge Engineering ซึ่งเป็นชื่อภาควิชาที่พวกเขาเรียนอยู่รวมกับคำว่า Geek ที่หมายถึงผู้เสพติดด้านไอที ซึ่งก็หมายถึงพวกเขานั่นเอง เพราะทั้ง 4 คนได้ใกล้ชิดกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กจึงทำให้รู้ตัวตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมและมัธยมปลายแล้วว่าควรมาด้านนี้
หลังจากรวมตัวกันพวกเขาก็ใช้เวลาค้นหาไอเดียพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อส่งเข้าประกวดเป็นเวลา 1 เดือนจนมาลงตัวที่ “eyeFeel” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางหูให้สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ง่ายขึ้น เช่น การเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ในห้องเรียน เพื่อให้ใช้งานผ่านระบบแปลงเสียงพูดและจับความเคลื่อนไหวของใบหน้าผู้พูดให้เป็นตัวอักษรและภาษามือที่สร้างด้วยแอนิเมชั่นในรูปแบบเรียลไทม์ เพียงแค่มีอุปกรณ์หลักคือโน้ตบุ๊ก เว็บแคม และไมโครโฟน
“อาจารย์ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษามือเลยก็สามารถสอนแบบปกติได้ แต่ตอนนี้ระบบสามารถทำได้แต่ภาษามือที่เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเท่านั้น” เอ็มเอ่ยถึงข้อดีและข้อเสียของซอฟต์แวร์นี้ โดยที่มาของไอเดียสุดเจ๋งนี้ได้มาจาก “หนังสือการ์ตูน” เพราะไม่ต้องใช้เสียงแต่มีบอลลูนขึ้นมาทำให้รู้ว่าใครพูดอะไร จึงใช้หลักการเดียวกัน โดยอาจารย์ที่คณะให้การช่วยเหลือโดยพาไปรู้จักกับนักภาษาศาสตร์เกี่ยวกับคนหูหนวกเพื่อพวกเขาให้เข้าใจถึงหลักการใช้ภาษามือก่อนนำมาพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อ ขณะที่ทางไมโครซอฟท์ให้การช่วยเหลือในเรื่องการนำซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมาใช้จึงช่วยลดต้นทุนและเวลาในการพัฒนาลงไปได้มาก
พวกเขาใช้เวลา 6 เดือนพัฒนา “eyeFeel” โดยเลือกห้องใต้ดินของโอ๊คและห้องใต้หลังคาของเป้เป็นที่ทำงาน และแบ่งงานตามฟีเจอร์ที่แต่ละคนถนัด เมื่อเจอปัญหาก็จะมีการระดมความคิดเพื่อช่วยกันแก้ไขโดยเน้นที่การเรียงลำดับความสำคัญภายใต้เวลาที่กำหนดเป็นหลัก
สิ่งที่ SKeek ได้รับจากการประกวดครั้งนี้นอกเหนือจากรางวัลที่ไมโครซอฟท์มอบให้แล้วคือ “ความประทับใจ” จากการเปิดวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นทำให้ได้เห็นผลงานและความสามารถของประเทศอื่นๆ ได้เพื่อนใหม่จากชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประกวด ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้กับการทำงานและการเรียนต่อในอนาคตเพราะมี “ภาษี” จากการได้รางวัลในเวทีนี้ที่นับว่าเป็นระดับ “โอลิมปิก” ของวงการซอฟต์แวร์
“ไม่ใช่แค่เพียงไมโครซอฟท์เท่านั้นที่อยากรับ แต่บริษัทอื่นๆ ในแวดวงซอฟต์แวร์ก็สนใจ” จีระวัฒน์ กุลอุดมทรัพย์ Academic Program & Audience Marketing Manager บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดูแลการประกวดในครั้งนี้บอก เมื่อถามว่าอนาคตของทีม SKeek จะมีโอกาสได้ทำงานในสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ที่อเมริกา ซึ่งการมี “รางวัลชนะเลิศ” ก็ช่วยเพิ่มความ “น่าสนใจ” ได้มากกว่าคนอื่น โดยที่ผ่านมามี 1 ในสมาชิกของทีม 3 KC Returns ได้เข้าไปทำงานที่ไมโครซอฟท์ ในเมืองเรดมอนต์ ที่อเมริกาแล้ว
สำหรับผลงานประกวดนั้น ทางไมโครซอฟท์มอบให้ทีม SKeek ที่จะนำไปพัฒนาต่อทางธุรกิจต่อได้ โดยได้เนคเทคสนใจนำ eyeFeel ไปต่อยอดในรูปแบบภาษาไทย แต่ด้วยข้อจำกัดที่มีความซับซ้อนและไม่มีผู้รวบรวมออกมาเป็นภาษามือให้เป็นหลักการเดียวกันทำให้พวกเขาต้องเก็บโครงการนี้ไว้ก่อน
เมื่อถามถึงอนาคตหลังจากเรียนจบ ทั้ง 4 คนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ตั้งใจทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่ต่างประเทศก่อนสักระยะเพื่อหาประสบการณ์ จากนั้นก็จะกลับมาพัฒนาประเทศต่อ แต่จะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไปตลอดหรือไม่ เอ็ม เป้ และนนท์บอกว่า “ไม่” เพราะถ้ามีประสบการณ์มากพอแล้วอาจจะเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่นเช่นงานด้านวิชาการที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์หรือด้านบริหารแทน ส่วนโอ๊คยังขอเป็นนักพัฒนาต่อแต่อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นเพราะมีประสบการณ์แล้ว
People | |
Name | กฤตธี ศิริสิทธิ์, พิชัย โสดใส, ธนะสรรค์ ดิลกพินิจนันท์ และ นนทวรรธ ศรีจาด |
Age | 22-23 ปี |
Education | มัธยมปลาย (ตามลำดับ) สาธิตเกษตร สามัคคีวิทยาคม สาธิตปทุมวัน และหอวัง |
ปริญญาตรี | มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ |
Award | รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งจาก Worldwide Imagine Cup 2010 |
Role Model | ทีม 3 KC Returns |
Dream | เอ็ม โอ๊ค และ นนท์ อยากทำอะไรที่เจ๋งๆ สามารถเปลี่ยนโลกได้ ส่วนเป้อยากเที่ยวรอบโลกเพื่อดูวัฒนธรรมของคนอื่น |
Lifestyle/Hobby | เล่นดนตรี เช่น กีตาร์ เปียโน ฟังเพลงแจ๊ซ เพลงป๊อป อ่านหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ ซีรี่ส์ของแดน บราวน์ เล่นฟุตบอล เล่นเกมคอมพิวเตอร์ |