เส้นทางนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เปิดกว้างและอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้มีหน้าใหม่เดินเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย และหลากหลายรุ่น เหมือนอย่างที่ “สิทธิพล พรรณวิไล” หรือหนูเนย Developer รุ่นน้อง ที่เดินตามรุ่นพี่มาอย่างติดๆ ในความฝันเดียวกัน คือ “การตอบรับ” จากผู้บริโภค ที่มีซอฟต์แวร์ของเขาอยู่ในมือหลายล้านคน
“สิทธิพล พรรณวิไล” อาจไม่คุ้นหูนัก แต่ในวงการนักพัฒนาซอฟต์แวร์รู้จักกันดีว่าชายหนุ่มวัย 25 ปีคนนี้คือ “นักล่ารางวัล” ที่ผ่านเวทีประกวดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือทั้งในและต่างประเทศมาแล้วมาถึง 17 เวที
สิทธิพล หรือ “หนูเนย” บอกกับ POSITIONING ว่าเขาได้ฉายานี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นประกวดครั้งแรกเมื่อตอนเรียนชั้นปีที่ 2 ในโครงการ DTAC & NOKIA DOT AWARDs ซึ่งครั้งนั้นได้รางวัลชมเชย และปีต่อมาได้ส่งผลงานประกวดในเวทีเดิมอีกครั้งจนได้รางวัลชนะเลิศมาครองสมใจ
เนยยอมรับว่าตอนประกวดครั้งแรกเขาคาดหวังว่าจะได้รับรางวัลชนะเลิศมาครอง เพราะใช้งบลงทุนถึงหลักแสนบาทซึ่งตอนนั้นได้รับคำชมจากคณะกรรมการอย่างมากว่าผลงานดีประกอบกับอีโก้ที่มีอยู่ทำให้คาดหวังสูงตามไปด้วย เมื่อไม่เป็นตามคาดเขาถึงกับคิดจะทิ้งการประกวดในครั้งที่ 2 ไป แต่สุดท้ายก็ต้านทานคำเชิญชวนจากเพื่อนร่วมทีมไม่ไหวจนได้ประกวดและรับรางวัลชนะเลิศตามที่ฝันไว้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงคิดว่าควรนำความล้มเหลวมาเป็นประสบการณ์เพื่อแก้ไขในการแข่งขันครั้งต่อไป
“ที่จริงแล้วสาเหตุมีอย่างเดียวเลยคือว่าหน้าตาไม่ดีแต่อยากออกทีวีก็เลยแข่ง เพราะได้รางวัลที่หนึ่งจะได้ออกทีวี” เนยบอกเหตุผลขำๆ ที่ต้องการประกวดในตอนแรกให้ฟัง แต่จากนั้นมาในปี 3 ปี 4 ความคิดเขาก็เปลี่ยนมาเป็น “ความท้าทาย” ที่ได้ประลองฝีมือกับผู้เข้าประกวดอื่นๆ ที่มีผลงานดีๆ นอกจากนี้ยังได้สังคมใหม่และ “สนุก” กับการประกวด
ก่อนหน้าที่เขาจะโลดแล่นบนเวทีประกวดแอพพลิเคชั่นอย่างทุกวันนี้ เนยรู้ตัวตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ว่า “ชอบ” อะไรโดยหัดเขียนโปรแกรมเองเพราะเกมที่เล่นอยู่ไม่ถูกใจ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาศึกษาด้วยตนเองเรื่อยมาจนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยท่ามกลางเสียงคัดค้านจากทางบ้านที่ต้องการให้เขาเรียน “หมอ” แต่เขาต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่าเรียน “วิศวะ” ก็สามารถได้ดีและเขามีความสุขได้
แม้วันนี้จะเรียนจบไปหลายปีแล้ว แต่เส้นทางล่ารางวัลของเขายังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนผ่านมาทั้งหมด 17 เวทีทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสถิติชนะเลิศ 13 ครั้ง รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 ครั้ง ส่วนที่เหลือมีทั้งเข้ารอบและไม่เข้ารอบตัดสิน ซึ่งทุกวันนี้เขาหันไปส่งผลงานประกวดในต่างชาติเฉลี่ยปีละ 1-2 งานเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักพัฒนาในต่างประเทศต่างๆ
“ได้รู้จักสังคมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รู้เลยว่าตัวเองอยู่ในกะลามาตลอด คนทั่วไปใช้เวลาเขียนโปรแกรมหนึ่งเดือน แต่เราเขียนหนึ่งอาทิตย์ก็คิดว่าเก่งแล้ว พอได้เจอชาวต่างชาติเขากลับใช้เวลาเขียนแค่สองวัน” ซึ่งเพื่อนชาวต่างชาติของเขาบอกว่าคนไทยมีฝีมือในการเขียนโปรแกรมเป็นอันดับต้นๆ แต่ไม่ค่อยมีเวทีประกวดและไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาแสดงผลงานมากนัก ซึ่งเนยคิดว่าการจะประสบความสำเร็จได้คือการกล้าคว้าโอกาสโดยไม่กลัวอุปสรรค
ผลงานประกวดที่เขาภูมิใจที่สุดคือแอพพลิเคชั่น MobiTobia ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน Forum Nokia Open C Challenge เมื่อปี 2550 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นโปรแกรมดู YouTube บนแพลตฟอร์มซิมเบียน และนับเป็นรายแรกที่สามารถใช้ YouTube บนมือถือได้ โดยมียอดดาวน์โหลดประมาณ 7 – 8 แสนครั้งแล้ว จึงถือว่าเป็นผลงานที่ทำให้มีคนรู้จักเขามากขึ้น
นอกจากล่ารางวัลเป็นกิจวัตรแล้ว งานประจำของเขาคือพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 40 ชิ้นแล้ว ทั้งวินโดวส์ โมบาย แอนดรอยด์ ไอโฟน และบาดาซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ซัมซุงพัฒนาขึ้นเอง แต่ที่เขารู้ตัวว่าถนัดมากที่สุดคือ “ซิมเบียน” ของค่ายโนเกีย เพราะเป็นแพลตฟอร์มแรกที่เริ่มต้นเขียนซึ่งขณะนั้นยังไม่มีแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้เลือกมากนัก รวมทั้งมองว่ามีโอกาสทางด้านการตลาดมากกว่าแอนดรอยด์และไอโฟนที่กำลังฮอตในตอนนี้
ขณะเดียวกันเขาก็มองว่า ในตอนนี้ซิมเบียนเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างล้าสมัยแล้วจึงได้หันมาสนใจ “บาดา” ของซัมซุงแทนเพราะมีกลุ่มเป้าหมายกว้างเนื่องจากออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ราคาไม่สูงเกินไป โดยตอนนี้เขาและทีมงานทั้งหมด 12 คนจากบริษัท หัวลำโพง จำกัด ที่เขาเป็นหุ้นส่วนรวมทั้งรับหน้าที่ Director ร่วมมือกันพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนบาดาให้กับซัมซุงทั้งหมด 7 แอพพลิเคชั่น รวมทั้งปีนี้ยังมีแผนส่งแอพพลิเคชั่นเข้าประกวดที่เวที Samsung BADA Developer Challenge ซึ่งมีเงินรางวัลสูงถึง 2,700,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในนามบริษัทอีกด้วย
สำหรับเนยแล้ว “แรงบันดาลใจ” ในการพัฒนาแอพลิเคชั่นแต่ละชิ้นคือ “ความต้องการของผู้บริโภค” เพราะประสบการณ์จากการแข่งขันแล้วตกรอบ ทำให้เขารู้ว่างานที่ดีต้องใช้งานได้ด้วย เขาจึงหันมามองว่า User ต้องการอะไร โดยคิดว่าตัวเองเป็น User เมื่อพอคิดได้จากนั้นก็ลงมือทำ ดังนั้นคติประจำตัวของเขาจึงถือว่า “ประสบการณ์คือครูที่ดีที่สุด” และหาไม่ได้ในห้องเรียน
ในฐานะนักล่ารางวัลแล้วเขาไม่คิดว่าการตกรอบเป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่เขาพบบ่อยจนทำให้รู้สึกท้อคือการ “เลียนแบบ” แอพพลิเคชั่นที่เขาทำ “เมื่อมีคนรู้จักแอพพลิเคชั่นเราก็เริ่มมีชื่อเสียงและมีคนรู้จักบ้างทำให้เริ่มมีกำลังใจกลับมา” ตอนนี้เขาคิดในมุมกลับกันว่าถ้าใครอยากจะลอกไอเดียเขาก็ทำได้ตามสบาย เพราะเขาสามารถทำให้ดีกว่าได้ และถือว่าเดินนำกว่าคนเลียนแบบไปแล้วถึงสองก้าว
People | |
Name: | สิทธิพล พรรณวิไล |
Age: | 25 ปี |
Education: | มัธยมปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
Carrier Highlights | |
Position: | Director บริษัท หัวลำโพง จำกัด |
Moral Precept: | Experience is the best teacher |
Role Model: | บอย โกสิยพงษ์ |
Lifestyle/Hobby: | ดูหนังทุกประเภท ฟังเพลงไทยทุกแนวไม่จำกัดค่าย ไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะทำให้ปวดหัวแต่ชอบอ่านจากจอคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะชีวประวัติของคนมีชื่อเสียง เช่น แวนโก๊ะ |