แม้วันนี้จะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่เมื่อเอ่ยถึงนายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสน หรือ “หมอจิมมี่” คงไม่มีนักพัฒนาคนไหนไม่รู้จักชายวัยกลางคนบุคลิกใจดีคนนี้ เพราะเขาเป็นโปรแกรมเมอร์รายแรกๆ ของไทย ที่สามารถส่งออกซอฟต์แวร์ไปขายต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท จิมมี่ ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเกม ParkingLot บนไอโฟนที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดถึง 7 แสนครั้ง ติดอันดับ 2 บน AppStore ในสหรัฐฯ และติด Top 100 มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
“ผมชอบและสนใจด้านโปรแกรมเมอร์ตั้งแต่ตอนเรียนหมอแล้ว” หมอจิมพูดถึง Passion ที่ก่อตัวขึ้น แต่ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่เป็นหมอซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ให้เลือกเรียน เขาจึงตัดสินใจเรียนคณะแพทยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิด จนกระทั่งตอนเรียนปีที่ 2 ได้เก็บเงินซื้อ “คอมพิวเตอร์” เครื่องแรก และพยายามเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่หาหนังสือคอมพิวเตอร์มาอ่านไปจนถึงเป็นลูกจ้างร้านคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนรู้จากอุปกรณ์จริง
เมื่อตอนปี 3 ได้ทดลองเขียนโปรแกรมตามคำแนะนำของมิชชันนารีชาวอเมริกันคนหนึ่งที่เขารู้จักซึ่งมองเห็น “แวว” จนสามารถเขียนโปรแกรมภาษาไทยขายให้กับบริษัท ไมโครเทค ซึ่งนับเป็นความภูมิใจที่เขายอมรับว่า “มากกว่า” เงินที่ได้รับ
จากนั้นเขาก็ได้ทดลองทำการ์ดภาษาไทยด้วยตนเองซึ่งเป็นช่วงที่วินโดวส์ 2.0 กำลังจะออกมาทำตลาด ทำให้เขารู้ว่า “ภาษาไทย” ต้องเป็นที่ต้องการอย่างแน่นอน จึงได้เริ่มทำภาษาไทยออกมาบน Word Processor และมีผลงานโปรแกรมภาษาไทยระบบแรกของวินโดวส์ออกมาชื่อ ThaiWin ในนามบริษัท 315 จำกัดเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 5 โดยเขาเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับที่นี่จนกระทั่งเรียนจบ และได้ลองเป็นหมอด้านจิตเวชตามที่เรียนมาเพียง 2-3 เดือนก็รู้ตัวว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ จึงตัดสินใจลาออกมาเป็นโปรแกรมเมอร์อิสระให้กับหลายบริษัท รวมถึงทำงานเอาต์ซอร์สในนามบริษัท แอดวานซ์ วิชั่นให้กับไมโครซอฟท์ที่สหรัฐฯ
ต่อมาเขาได้ตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านเกิด โดยเริ่มต้นออกแบบโปรแกรมภาษาไทยที่ใช้บน Window CE ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ตามด้วยพ็อกเก็ต พีซี จากนั้นได้ก่อตั้งบริษัทจิมมี่ซอฟต์แวร์ขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองเมื่อปี 1998 โดยผลงานสร้างชื่อที่ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเกือบทุกแบรนด์ต้องตามหาเขาแม้ว่าจะอยู่ไกลถึงเชียงใหม่ก็ตามคือโปรแกรมภาษาไทยบนแพลตฟอร์มต่างๆ ตั้งแต่พ็อคเก็ต พีซี พีดีเอโฟน ไล่มาจนถึงวินโดวส์ โมบาย ไอโฟน และแอนดรอยด์ “เราไม่มีอะไรจะไปขาย แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ใครๆ ก็ต้องใช้และมาหาเรา เพื่อทำภาษาไทยในเครื่อง”
นอกจากพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจแล้ว เขาพบว่าแอพพลิเคชั่นเกมคือสิ่งที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับจิมมี่ซอฟต์แวร์ได้อย่างมากมายจึงได้ตั้งทีมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาเกมขึ้น ซึ่งไม่เคยต้องหาลูกค้าเอง แต่จะได้รับการติดต่อจากลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ โดยมีทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ผลิตมือถือ ซึ่ง 60-70% เป็นลูกค้าในประเทศ ส่วนลูกค้าจากต่างชาติ 30-40% และเกือบทั้งหมดมาจากสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดโมบาย ซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีผลงานแอพพลิเคชั่นไม่ต่ำกว่า 200 แอพฯ มีการพัฒนาเฉลี่ยปีละ 40-50 แอพฯ โดยผลงานที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่คือเกมบนไอโฟน ซึ่งเกมที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือ ParkingLot ที่มียอดดาวน์โหลดไปทั่วโลกแล้วไม่ต่ำกว่า 7 แสนครั้ง
หลังจากที่แจ้งเกิดบนเวทีโลกผ่าน App Store ไปแล้ว เขายังสนใจแพลตฟอร์ม “แอนดรอยด์” เพราะมีข้อจำกัดน้อยทำให้มีโอกาสสร้างรายได้มากกว่าไอโฟนที่ Apple มีเงื่อนไขทางด้านธุรกิจมากมายจึงเป็นข้อจำกัดสำหรับนักพัฒนา และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้รับโปรเจกต์จาก HTC ประเทศไทยให้เป็นผู้พัฒนาบริการบน My HTC Service เพื่อสร้างความแตกต่างในการใช้งานบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ที่วันนี้มือถือแทบทุกแบรนด์นำไปใช้
“โจทย์ของเราคือ ทำให้แชตของHTC มีแชตก็จะแตกต่างจากแอนดรอยด์รายอื่น และแตกต่างจากบีบีด้วย” โดยนำโลเกชั่นมาผสมกับแชตเพื่อให้เกิดฟีเจอร์ใหม่ ที่สามารถค้นหาเพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายแชตได้ขณะอยู่ในสถานที่ใหญ่ๆ เช่น สนามกีฬา คอนเสิร์ต หรืองานอีเวนต์ต่างๆ โดยผู้ที่มีส่วนร่วมและเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาบริการบน My HTC Service มากที่สุดคือลูกชายคนโต “เขาบ้าบีบี” หมอจิมบอก ซึ่งมีข้อดีตรงที่ช่วยบอกถึงความสามารถของบีบี และยังช่วยเข้ามาดูแลโปรเจกต์นี้อีกด้วย “เขาเรียนด้านบริหารแต่จัดว่าเป็น Geek” เขาเอ่ยถึงลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นด้วยความภูมิใจ
ขณะที่ใครๆ มักจะมองว่าอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นงานที่อยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่นักพัฒนาตัวจริงอย่างหมอจิมมองว่างานนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เขาเปรียบการทำซอฟต์แวร์เหมือนการทำกับข้าวที่ต้องนำโปรแกรมอื่นๆ มาผสมกันจึงไม่ใช่แค่เรื่องของวิศวกรรมอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของการจินตนาการและศิลปะด้วย ขณะที่ “ไอเดีย” กลับเป็นเรื่อง “ฟลุ้ค”
ไม่ต่างจากคนทำหนังหรือคนแต่งเพลง ที่ต้องพยายามหาฉากใหม่หรือเพลงใหม่ที่คนดูไม่เคยเห็นหรือเคยฟัง เช่นเดียวกับแอพพลิเคชั่นที่นักพัฒนาต้องมองหาแอพฯ ที่คนใช้ไม่เคยเห็นจึงต้องมีแรงบันดาลใจที่แหวกแนว ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับถึงข้อด้อยของเกมที่มีอายุสั้นแค่เพียง 2-3 เดือนก็หมดความนิยมแล้ว และยังต้องลุ้นอยู่เสมอว่าแอพฯ ที่ทำออกมาจะมีคนสนใจหรือไม่
“ไม่มีใครรู้ได้หรอกว่าจะขายได้หรือเปล่า มีแค่ 1% เท่านั้นที่จะสำเร็จ เหมือนทำเพลง ทำอัลบั้มออกมาแต่มีเพลงเดียวเท่านั้นที่ฮิต เป็นธรรมดาของเรื่องบันเทิง” หมอจิมเล่าว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำแอพฯ ออกมา 10 ชิ้นแต่สำเร็จแค่ชิ้นเดียว ซึ่งเขาก็ไม่เคยท้อเพราะมีความสุขที่ได้ทำ โดยยึดคติว่า “Keep going” คือการทำไปเรื่อยๆ แล้วสักวันจะสำเร็จเอง และในทางกลับกันถ้าได้รับความนิยมแค่เพียงเกมเดียวก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลและคุ้มค่าจึงถือว่าเป็นธุรกิจที่ High risk high return
People | |
Name | น.พ.ภานุทัต เตชะเสน |
Age | 47 ปี |
Status | แต่งงานแล้ว มีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 1 คน |
Education | มัธยมปลาย โรงเรียนปรินซ์รอแยลส์วิทยาลัย ปริญญาตรี สาขาจิตวิยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
Carrier Highlights | |
Position | ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จิมมี่ ซอฟต์แวร์ จำกัด โปรแกรมเมอร์ บริษัท แอดวานซ์ วิชั่น จำกัด โปรแกรมเมอร์ บริษัท 315 จำกัด โปรแกรเมอร์ บริษัท ไมโครเทค จำกัด |
Moral Precept | Keep going |
Lifestyle/Hobby | งานอดิเรกคืออ่านหนังสือประเภท Programming ชอบดูหนังทุกเรื่องไม่จำกัดประเภท ติดตามข่าวไอทีบนอินเทอร์เน็ตทุกวัน เว็บไซต์ที่เข้าประจำคือ Mashable.com ซึ่งเป็นเว็บข่าวไอทีของอเมริกา |