ความสำเร็จของบางคนอาจวัดกันที่ระยะเวลา แต่สำหรับ อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล นักพัฒนาโปรแกรมวัย 40 ปีผู้นี้มองว่า “การรอคอยและการแสวงหาโอกาส” ที่เหมาะสมกับตัวเองบนเส้นทางนี้คือ “ความสำเร็จ” ที่น่ารื่นรมย์ที่สุด
เวลา 8.30 น. ของวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายนคือเวลาที่ POSITIONING นัดสัมภาษณ์ “อภิชัย” นักพัฒนาโปรแกรมรายแรกๆ ที่มีชื่ออยู่ในลิสต์เดเวอลอปเปอร์ของ “Layar” เว็บเบราเซอร์ชื่อดังระดับสากล ด้วยหน้าที่หลักของเขาคือการเป็นเจ้าของบริษัท Think Technology ที่ดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดของเขาที่มีพร้อมทั้งธรรมชาติและเทคโนโลยี ที่นี่จึงถูกใช้เป็นออฟฟิศเต็มตัว และเฉลี่ยเพียงเดือนละ 2 ครั้งเท่านั้นที่เขาจะเดินทางมาเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่างๆ และพบปะลูกค้าในกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะนัดพบเขาได้ในเมืองหลวงที่วุ่นวายแห่งนี้
กว่าจะมาเดินบนเส้นทางสายนักพัฒนาจนมีชื่อเสียงในหมู่ชาวต่างชาติอย่างวันนี้ได้ อภิชัยมีจุดเริ่มต้นที่ “แตกต่าง” ไปจากนักพัฒนาคนอื่นที่ส่วนใหญ่เรียนจบด้านวิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ขณะที่เขาสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ด้วยความบังเอิญและโชคดีที่รูมเมทเรียนด้านนี้ เขาจึงได้ความรู้ และทักษะติดตามมา จากการขอตามไปนั่งเรียนวิชาเขียนโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ด้วยทุกครั้ง พร้อมกับหัดเขียนโปรแกรม Dos บนคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นไปด้วย
“ตอนนั้นเรากลายเป็นเด็กเกษตรแต่เก่งคอมฯ เวลาเดินไปไหนแล้วพกกล่องดิสเกตส์ก็ดูเท่” เขาเล่าถึงอดีตให้ฟังอย่างสนุกสนาน และยอมรับว่าไม่สนใจเรียนที่คณะตัวเองเท่าไหร่นักทำให้ผลการเรียนไม่ดีแต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้จนกระทั่งเรียนจบ จากนั้นเขาก็ลองทำงานด้านเกษตรตามที่เรียนมาได้ราว 2 ปีก็รู้ตัวว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจึงตัดสินใจลาออกมาทำในสิ่งที่ชอบโดยเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนหนังสือพ็อกเกตบุ๊กด้านคอมพิวเตอร์พร้อมกับศึกษาข้อมูลด้วยตนเองและเริ่มพัฒนาโปรแกรมด้านแฟลชจนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่ได้จากการเรียนเกษตร คือ ”ความอดทน และรอคอย” ซึ่งไม่ต่างจากเส้นทางของเขาที่ผ่านมานับจากวัยเด็กที่เคยยืนอยู่หน้าโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ เห็นเครื่องพรินต์วาดลวดลายตัวการ์ตูนโดเรมอนออกมาแล้ว จนจุดประกายให้เขาหวังว่าวันหนึ่งเขาจะอยู่บนแวดวงไอทีนี้ให้ได้
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อเขาได้รับคำชวนจากขจร พีรกิจ ซึ่งเป็นผู้จัดการของกลุ่ม Thai Adobe User Group ที่รวบรวมความรู้ด้านเทคโนโลยีของ Adobe ให้มาเป็นสมาชิกในกลุ่มดังกล่าว ทำให้เขาได้รู้จักกับเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR เป็นครั้งแรก จากการบรรยายของ Adobe “ผมเห็นเขานำกระดาษ A4 มาส่องกับเว็บแคมแล้วมีกล่องสีส้มเด้งขึ้นมาตอนนั้นรู้สึกสนใจมากว่าทำได้ยังไง” อภิชัยเล่าถึงนาทีประทับใจครั้งแรกที่ได้รู้จักกับ AR ให้ฟัง
แรงกระตุ้นครั้งนั้น ทำให้เขาศึกษาและพัฒนา AR เพื่อนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ จนนำไปสู่การพบกับโปรแกรมบราวเซอร์ผสมเทคโนโลยี AF อย่าง Layar ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และโพรไฟล์รูปไดโนเสาร์ ที่นำเสนอผ่านระบบ AR โดนใจ Layar ทำให้เขาได้เป็นหนึ่งในนักพัฒนารายแรกๆ ของ Layar บริษัทต่างชาติอนาคตไกลที่มีอายุเพียง 1 ปีรายนี้
ลูกค้าส่วนใหญ่ทุกวันนี้จึงเป็น “ต่างชาติ” เกือบทั้งหมด ส่วนลูกค้าในประเทศเพิ่งเริ่มทยอยเข้ามามากขึ้นในปีนี้ โดยมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง “แสนสิริ” คือหนึ่งในจำนวนลูกค้าไทยที่ให้เขาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบน Laryar เพื่อใช้บนไอแพด
“ผมไม่มีเคล็ดวิชาอะไร แต่อยู่ที่ความอดทนอย่างเดียว” อภิชัยเอ่ยถึง Key to success ของตัวเอง ที่ผ่านมาเขาพยายามศึกษาและพัฒนาโปรแกรมด้วยตัวเองมาตลอด จึงกลายเป็นพื้นฐานที่ดีและสะสมมาเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็ทำให้เขาเรียนรู้ได้เร็วและทำได้ง่ายกว่าคนอื่น บวกกับความอดทน รอคอย จนกว่าจะถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตเช่นเดียวกับตัวเขาที่ตอนนี้ถึงเวลาออกดอกออกผลทำให้คนรอบข้างได้เห็นและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
นอกจากความอดทนแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับวงการนักพัฒนาที่รุ่นพี่อย่างเขามองว่าได้ผลดีคือ “การแสวงหาโอกาสด้วยตนเอง” ดังนั้นการเดินเข้าไปหาลูกค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจก่อนจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย รวมถึงการคิดให้ “แตกต่าง” ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยเลี่ยงคู่แข่งในวงการนี้อีกด้วย ซึ่งเขามักหาแรงบันดาลใจจากโลกกว้างบนอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ
ส่วน Role Model คนแรกที่อภิชัยชื่นชมคือบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งอนาจักรไมโครซอฟท์ที่สร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการนำคอมพิวเตอร์มาสร้างสรรค์การทำงาน และต้นแบบอีกคนคือกระทิง พูนผล อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดของกูเกิล ที่จุดประกายความคิดให้เขาสร้างอิมแพคให้กับโลกได้โดยไม่ยึดติดว่าจะอยู่ที่ไหน
ปัจจุบัน เขายังอยู่ในช่วงพัฒนาโปรแกรม Digital Magazine ที่ใช้ร่วมกับเทคโนโลยี 3 มิติโดยมีแผนนำมาใช้บนไอแพด ซึ่งจะทำให้การอ่านแมกกาซีนมีลูกเล่นมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มกิมมิกในโฆษณาด้วย อภิชัยคาดว่าโปรเจกต์ล่าสุดนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยได้
บทพิสูจน์วันนี้สำหรับเส้นทางของดีเวลลอปเปอร์อย่าง ”อภิชัย” ได้ความคิดรวบยอดจากเรื่องPoint Break ซึ่ง แพททริก สเวซีย์ ที่รับบทร้ายในเรื่องนี้พูดว่า “ความกลัวทำให้เราไม่กล้า แต่ถ้าเราไม่กล้าความกลัวนั้นจะเป็นจริง” และนั่นคือแนวคิดที่เขานำมาใช้จนทุกวันนี้
People | |
Name | อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล |
Age | 40 ปี |
Status | สมรสแล้ว มีบุตรชาย 2 คน และบุตรสาว 1 คน |
Education | มัธยมปลาย โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ปริญญาตรี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
Carrier Highlights | |
Position | กรรมการผู้จัดการบริษัท Think Technology จำกัด |
Role Model | บิล เกตส์ และ กระทิง พูนผล |
Moral Precept | ความกลัวทำให้เราไม่กล้า แต่ถ้าเราไม่กล้าความกลัวนั้นจะเป็นจริง |
Brand | Mac เพราะเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญและโดดเด่นในการออกแบบของตัวผลิตภัณฑ์ |
Social Media | เล่นFacebook และ Twitter อัพเดตผ่านทาง iPhone มีเพื่อนในFacebook 202 คน และ Follower ใน Twitter 600 คน โดย Follow ประมาณ 313 คน |
Lifestyle/Hobby | ชื่นชอบหนังสือชีวประวัติของคนดังๆ ที่ว่า กว่าจะประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เช่น เอดิสัน บิล เกตส์ สตีฟ จอบส์ หนังสือประเภท Programming และการ์ตูนของ Marvell Comic ชอบดูหนังทุกเรื่องไม่จำกัดประเภท ติดตามข่าวไอทีบนอินเทอร์เน็ตทุกวัน เว็บไซต์ที่เข้าประจำคือ Mashable.com เว็บข่าวไอทีของอเมริกา |