อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ เทน้ำหนักให้โมเดลธุรกิจใหม่ Turnkey Development รับจ้างพัฒนาโครงการตั้งแต่ต้นจนจบให้พาร์ตเนอร์ที่มีที่ดินหรือเงินทุนแต่ไม่มีเวลา-องค์ความรู้ เป็นแพลตฟอร์มแบบใหม่เสมือนเชนโรงแรมแห่งวงการอสังหาฯ ปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาด เพื่อใช้สวมในโครงการของพันธมิตร
“ชยพล หรรรุ่งโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยทิศทางของบริษัทตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จะหันมาให้น้ำหนักกับบริการ Turnkey Development มากขึ้น โดยเป็นโมเดลธุรกิจที่ได้กำไรดีกว่าลงทุนอสังหาริมทรัพย์เองทั้งหมด และช่วยตอบโจทย์ปัญหาของเศรษฐี-นักธุรกิจในปัจจุบัน
บริการดังกล่าวเปรียบเสมือนธุรกิจเชนโรงแรมที่มีการรับจ้างบริหารโครงการ คือ อัลติจูดมีการพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเป็นคอนเซ็ปต์มาตรฐาน และนำแบรนด์นี้เป็นแกนในการรับจ้างพัฒนา-บริหารโครงการอสังหาฯ ให้กับพาร์ตเนอร์ที่สนใจ โดยพาร์ตเนอร์เป็นผู้ลงทุนที่ดิน ก่อสร้าง การตลาด ฯลฯ และรับกำไรจากตัวโครงการ ส่วนอัลติจูดจะได้รับรายได้เป็นค่าธรรมเนียมการพัฒนาและบริหาร
บริการที่ให้จะเริ่มตั้งแต่ประเมินตลาด ออกแบบโครงการ งานขาย งานการตลาด ควบคุมการก่อสร้าง เบ็ดเสร็จครบวงจร โดยมีสิ่งที่ต่างจากการจ้างบริษัทที่ปรึกษาอสังหาฯ ต่างๆ คือ อัลติจูดมีแบรนด์ของตนเอง ปัจจุบันเปิดขายสะสม 14 โครงการตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท รวมทั้งแนวราบและแนวสูง ส่วนใหญ่เป็นโครงการระดับลักชัวรีและระดับกลาง แต่เริ่มมีการแตะตลาดกลางล่างแล้วเช่นกัน
“โมเดลนี้เป็นการร่วมงานกับนักธุรกิจที่มีที่ดินหรือมีทุน ต้องการพัฒนาอสังหาฯ แต่ไม่มีพื้นฐานหรือเวลาศึกษา เราจะเข้าไปช่วยพัฒนาให้ทั้งหมดโดยใช้แบรนด์ของเรา ดังนั้นเราจะดูแลรับผิดชอบให้เพราะเป็นชื่อแบรนด์ของเราด้วย” ชยพลกล่าว
ซีอีโออัลติจูดอธิบายว่า นักธุรกิจหรือเศรษฐีไทยหลายคนมีการสะสมที่ดินแต่พัฒนาเองไม่ได้ ทำให้โมเดลของอัลติจูดจะช่วยแก้โจทย์ให้ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าสามารถรับบริหารได้ทุกแปลง บริษัทจะมีการพิจารณาหลายส่วน เช่น แปลงที่ดินต้องอยู่ในทำเลที่เล็งเห็นว่าพัฒนาขายได้จริง มูลค่าโครงการอย่างน้อย 200 ล้านบาท และปัจจุบันยังรับเฉพาะเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล
“เราจะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นมาตรฐาน เหมือนกับการทำงานของเชนโรงแรมระดับโลกที่มีมาตรฐานซึ่งลดระดับไม่ได้ และจะมีระบบดำเนินงานโปร่งใส ที่สำคัญกว่าจะดีลกันลงตัวต้องเจอคนที่ใช่ มีทัศนคติที่เป็นพาร์ตเนอร์กันได้ และเราจะดูแลพาร์ตเนอร์ให้เหมือนเป็นลูกค้าเรา ผลลัพธ์คือลูกค้าจะต้องประสบความสำเร็จในการทำโครงการ” ชยพลกล่าว
เสี่ยงต่ำ กำไรดีกว่า
ก่อนหน้านี้อัลติจูดมีการลงทุนทั้งในลักษณะจอยต์เวนเจอร์ร่วมลงทุน และโมเดลรับจ้างบริหารแบบ Turnkey โดยการ “จอยต์เวนเจอร์” หมายความว่าบริษัทต้องร่วมทุนด้วยตามสัดส่วนที่ตกลง ทำให้ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนจากการขายโครงการก่อนๆ มาต่อยอดเพื่อพัฒนาโครงการถัดไป ซึ่งจะทำให้การเติบโตเร่งไม่ได้มากนัก ขณะที่การ “รับจ้างบริหาร” สามารถเพิ่มโครงการในมือได้แทบจะไม่จำกัด
นอกจากนี้ โมเดลรับจ้างบริหารยังให้กำไรดีกว่า ยกตัวอย่างการคาดการณ์รายได้อัลติจูดปี 2564 คาดว่าจะมาจากรายได้โครงการร่วมทุน 1,169 ล้านบาท โดยทำกำไรส่วนนี้ 264 ล้านบาท หรืออัตรากำไรประมาณ 23% ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมรับบริหารอยู่ที่ 230 ล้านบาท โดยทำกำไรส่วนนี้ถึง 137 ล้านบาท หรืออัตรากำไรประมาณ 60% และยังเสี่ยงน้อยกว่าเพราะลงทุนเฉพาะค่าบุคลากรและองค์ความรู้
โมเดลนี้ ชยพลกล่าวว่าเริ่มมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ทำให้บริษัทมองว่าปีนี้เป็นต้นไปจะเน้นการรับจ้างบริหารเป็นหลัก แต่ก็ยังต้องมีโครงการลักษณะจอยต์เวนเจอร์ควบคู่ด้วย เพื่อให้มีฐานโครงการตัวอย่างที่บริษัทพัฒนาเองให้พาร์ตเนอร์ใช้อ้างอิงในการตัดสินใจ
จนถึงปัจจุบัน อัลติจูดรับบริหารแบบ Turnkey ไปแล้ว 7 โครงการ มูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท มีโครงการที่ปิดการขายแล้ว เช่น “อัลติจูด พรูฟ สาทร” โฮมออฟฟิศซูเปอร์ลักชัวรี 4 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 92 ล้านบาท และโครงการระหว่างขาย เช่น “วัน อัลติจูด เจริญกรุง” คอนโดมิเนียมระดับบนราคาเริ่มต้น 6.5 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 1,152 ล้านบาท มียอดขายแล้ว 70%
แลนด์ลอร์ดต้องเร่งพัฒนาหนีภาษีที่ดิน
ด้าน “สุริยน ศรีอรทัยกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้ เจมส์ จำกัด และเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์รายใหญ่ของอัลติจูด เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมงานกับอัลติจูดมาแล้ว 5 โครงการ มีทั้งรูปแบบจอยต์เวนเจอร์ร่วมทุนกัน และจ้างบริหารแบบ Turnkey และกำลังจะมีส่วนร่วมอีก 2 โครงการในปี 2564
สาเหตุที่สนใจโมเดลนี้เพราะครอบครัวเป็นนักสะสมที่ดิน ยกตัวอย่างที่ดินผืนใหญ่ในสนามกอล์ฟเดอะรอยัลเจมส์ ศาลายา พื้นที่ทั้งหมดกว่า 1,100 ไร่ มีพื้นที่เหลือสำหรับพัฒนาอสังหาฯ ได้อยู่ 100 ไร่ซึ่งอยู่ในโลเคชันติดสนามกอล์ฟ นอกจากนี้ยังมีที่ดินกระจายในศาลายาอีกราว 180 ไร่
“ที่ดินเยอะแบบนี้ ภาษีที่ดินที่ออกมาก็เก็บค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราเข้าใจเพราะเป็นกุศโลบายที่ดีในการให้เจ้าของที่ดินนำออกมาพัฒนา แม้ปีนี้จะผ่อนผันให้เพราะมี COVID-19 แต่ต่อไปก็ต้องหาทางลงทุนรองรับไว้ก่อน” สุริยนกล่าว
ทั้งนี้ นอกจากที่ดินและทุนแล้ว สุริยนยังแนะนำนักธุรกิจที่สนใจโมเดลนี้ว่า ควรเตรียมฐานลูกค้าจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ไว้ด้วย เพราะจะช่วยได้มากในการขายโครงการได้เร็ว
ชยพลกล่าวว่า ปี 2564 คาดว่าบริษัทจะเปิดตัวโครงการประมาณ 6-7 โครงการ มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท และ 5-6 โครงการในจำนวนนี้จะเป็นโมเดลรับจ้างแบบ Turnkey ขณะนี้เจรจาอยู่ประมาณ 5-6 ราย ซึ่งปิดดีลได้เรียบร้อยแล้ว 3 ราย เชื่อว่ามีนักธุรกิจอีกมากที่สนใจเพราะต้องการสร้างประโยชน์ให้ที่ดินเปล่า รวมถึงผู้ที่ต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนรูปแบบอื่น