น้ำดื่มยุคนี้แข่งกันที่ลายขวด! 4 แบรนด์บุกครึ่งปีหลัง ขวดต่างสไตล์ดึงใจผู้บริโภค

กลยุทธ์การตลาดของเหล่าแบรนด์น้ำดื่มได้เลยพ้นการสื่อสาร functional ของน้ำ มาสู่การตลาดแบบ emotional นานหลายปี และปีนี้ดูจะยิ่งดุเดือดขึ้นด้วย “ลายขวด” ที่ผลัดกันออกลายใหม่มาตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี ช่วยกันผลักดันตลาดน้ำดื่มและน้ำแร่ที่ไม่ค่อยเติบโตเหมือนเช่นเคย

การตลาดของน้ำดื่มและน้ำแร่เปลี่ยนจากการสื่อสารเฉพาะเรื่อง functional เช่น น้ำใส สะอาด บริสุทธิ์ มีแร่ธาตุ มาเสริมเรื่อง emotional ด้วยรูปลักษณ์และดีไซน์ โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เมื่อแบรนด์เล็กอย่าง “สปริงเคิล” รีแบรนด์ตนเอง ปฏิวัติขวดน้ำเป็นขวดลายเพชรสีใส ดูโดดเด่นออกมาจากขวดน้ำดื่มอื่นๆ

หลังจากนั้นในปี 2559 แบรนด์น้ำแร่ “เพอร์ร่า” ในเครือสิงห์ ก็เริ่มต้นกลยุทธ์การเปลี่ยนลายพลาสติกห่อขวดเป็นลาย collab กับดีไซเนอร์ไทยสารพัดแบรนด์ เช่น Disaya, Issue, Asava, Poem, Vatanika

ในปีเดียวกัน สปริงเคิลก็ ‘เล่นใหญ่’ เช่นกัน โดยออกขวดลายเพชรย้อมสีสารพัดสีออกวางจำหน่าย จนเป็นกระแสฮือฮา มีแฟนคลับซื้อเก็บสะสมเป็นคอลเลกชัน

ก่อนที่น้ำดื่ม “สิงห์” จะหันมาใช้ลายขวดจูงใจกับเขาบ้างในปี 2561 หลังจากมีน้ำดื่มขวดเล็ก 330 มิลลิลิตรวางจำหน่ายแล้ว ได้เปลี่ยนลายขวดไซส์เล็กนี้เป็นลายการ์ตูน My Little Pony เจาะตลาดเด็กโดยเฉพาะ

ล่าสุดคือ “คริสตัล” ที่ทานกระแสไม่ไหว ต้นปี 2563 นี้เริ่มหันมาชิมลางใช้ลายขวดบ้าง โดยออกลาย Limited Edition ร่วมกับศิลปินในชื่อลาย Crystal Moment กลายเป็นแบรนด์ใหญ่อีกหนึ่งแบรนด์ที่ลงสนามการตลาดลายขวดกับเขาบ้าง

 

“คริสตัล” เลือกจุดยืนลายขวด collab นักวาดชาวไทย

Crystal x Yuree ลายขวดพิเศษล่าสุดจากคริสตัล

ว่ากันที่หน้าใหม่ในวงการแข่งขันลายขวดก่อน “คริสตัล” ของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นปีนี้เพิ่งชิมลางด้วยลาย Crystal Moment ซึ่งออกแบบโดยศิลปิน 2 ท่าน คือ ครูโต-ม.ล.จิราธร จิรประวัติ และหลานชาย จิระ จิระประวัติ ณ อยุธยา และเป็นการผลิตจำหน่ายแบบ Limited Edition เพียง 5,000 ขวด

ดูเหมือนว่าการชิมลางจะเป็นไปด้วยดี ทำให้คริสตัลเดินหน้าต่อกับการตลาดลายขวด โดยล่าสุดคริสตัลมีการออกลายขวดแบบพิเศษเซตที่สองของปี ด้วยงานออกแบบของ Yuree – ยุรี เกนสาคู หนึ่งในศิลปินไทยไม่กี่รายที่ได้ร่วมแสดงผลงานที่ Bangkok Art Biennale 2020 (BAB 2020)

พร้อมกับการตลาดในแนวทางส่งเสริม “โลกศิลปะ” ช่วยโปรโมตผลงานของ Yuree ที่จัดแสดงร่วมกับ BAB 2020
ไปในเวลาเดียวกับการโปรโมตขวดลายใหม่ของคริสตัล จะเห็นได้ว่า แนวทางของคริสตัลคือการเลือกงานดีไซน์ collab กับ “ศิลปินนักวาดชาวไทย” เป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคที่เลือกซื้อได้ภาพลักษณ์แบบ “คูลๆ” ไม่เหมือนใคร และมีความคิดสร้างสรรค์

 

“สปริงเคิล” คอลเลกชันเพื่อนักล่าสะสมขวด

หนึ่งในต้นตอกระแสการตลาดลายขวด “สปริงเคิล” ของ บริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด รายเล็กที่ส่วนแบ่งตลาดยังไม่ติด 4 อันดับแรก แต่ก็สร้างความฮือฮาได้เป็นระยะๆ

การวางแนวทางสื่อสารของสปริงเคิลจะล้อไปกับลายขวดเพชร คือสร้างแบรนด์ให้เป็นแบรนด์แห่งงานดีไซน์ มีคุณค่าความสวยงาม ทำให้ดึงดูดกลุ่มนักสะสม เมื่อออกคอลเลกชันใหม่จะมีลูกค้าตามล่าหาขวดให้ครบทุกแบบ ดังนั้น ระยะหลังสปริงเคิลจึงออกคอลเลกชันแบบเอาใจนักสะสมกลุ่มนี้ เช่น คอลเลกชัน Star Wars

ส่วนคอลเลกชันล่าสุดที่กระตุ้นผู้บริโภคอีกแล้วคือ ลายขวด One Piece การ์ตูนญี่ปุ่นสุดโด่งดัง ลายแรกจากทั้งหมด 6 ลายวางขายไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 63 แต่ทันทีที่ถึงวันจำหน่ายก็มีดราม่าทันที เพราะลายใหม่ Zoro ขึ้นเชลฟ์ในเซเว่น อีเลฟเว่นไม่ทัน จนแบรนด์ต้องขออภัยลูกค้าว่า Zoro ยังแล่นเรือไปไม่ถึงเซเว่นฯ ขอให้รอจนถึงประมาณกลางเดือน แต่ถ้าใครรอไม่ไหวสามารถตามหาที่โมเดิร์นเทรดแห่งอื่นก่อนได้

 

“สิงห์” คงคอนเซ็ปต์ลายการ์ตูนสุดคิ้วท์

น้ำดื่มสิงห์ร่วมกับลาย Mickey Mouse

จากจุดเริ่มต้นของสิงห์ที่นำลายการ์ตูน My Little Pony มาลงขวดไซส์เล็ก 330 มิลลิลิตร ด้วยเสียงตอบรับที่ดีทำให้เริ่มมีการนำลายขวดมาขึ้นแพ็กเกจจิ้งไซส์ 750 มิลลิลิตรในปี 2562 แต่เป็นแคมเปญเชิง CSR ร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงา ติดภาพและชื่อเด็กหายบนขวด เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม

จากนั้นในเดือนกรกฎาคมปี 2563 นี้ ลายการ์ตูนก็กลับมาอีกครั้ง โดยเลือกจับมือกับ Walt Disney นำลายลิขสิทธิ์ Mickey Mouse พร้อมตัวอักษร A-Z มาขึ้นขวดไซส์เล็ก 330 มิลลิลิตร และไซส์ 750 มิลลิลิตรด้วย
กลายเป็นแคมเปญสนุกๆ ที่ลูกค้าสามารถหาซื้อตัวอักษรที่ต้องการมาวางเรียงต่อกันเป็นคำได้

การเลือกลายการ์ตูนอีกครั้งและนำขึ้นขวดไซส์ผู้ใหญ่ด้วย ทำให้เห็นได้ว่าน้ำดื่มสิงห์กำลังปรับแบรนด์ตัวเองให้ดูเด็กลงและสนุกขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการใช้พรีเซ็นเตอร์คนรุ่นใหม่

 

“เพอร์ร่า” ขวดของแฟชั่นนิสต้า

เพอร์ร่า ลาย Little Happiness ออกแบบโดย เจนนิเฟอร์ โบรอน

ปิดท้ายที่ขวดน้ำแร่จากเครือสิงห์เช่นกัน “เพอร์ร่า” ออกลายใหมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นคอลเลกชันชื่อ Little Happiness ซึ่งออกแบบร่วมกับ “เจนนิเฟอร์ โบรอน” นักออกแบบชื่อดังชาวฝรั่งเศส ออกมาเป็นลายขวดหวานๆ ทั้ง 7 ลาย (หนึ่งในนั้นเป็นลายที่ร่วมกับ JOOX ด้วย) ให้ภาพของสาวปารีเซียงในวันสบายๆ และสดชื่น

ดังที่กล่าวข้างต้น เพอร์ร่ามีแนวทางที่ชัดเจนมาตลอดว่าจะออกแบบลายพิเศษกับกลุ่มแบรนด์แฟชั่น เมื่อต้นปีนี้ก็เพิ่งมีลายใหม่ร่วมกับแบรนด์ Kloset ก่อนที่กลางปีจะออกลาย Little Happiness ต่อเนื่องกัน

การสื่อสารแบรนด์ด้วยแฟชั่นก็ทำให้เพอร์ร่ามีภาพของ แฟชั่นนิสต้า เหมาะกับคนทันสมัย รักการแต่งตัว ซึ่งกลายเป็นคุณค่าใหม่ของ “น้ำแร่” ไม่ใช่แค่ขายเพียงคุณประโยชน์ของน้ำเท่านั้น

ปี 2563 นั้นเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับตลาดน้ำดื่มและน้ำแร่ เพราะหน้าขายในช่วงฤดูร้อนนั้นตรงกับช่วงล็อกดาวน์เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค COVID-19 เมื่อคนออกจากบ้านน้อยลง ความต้องการซื้อน้ำดื่มและน้ำแร่ระหว่างอยู่นอกบ้านก็น้อยตามไปด้วย ดังนั้น การตลาดแบบ emotional อาจจะยิ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะเร่งยอดขายช่วงครึ่งปีหลังของทุกแบรนด์ เกาะกลุ่มคนซื้อเพราะต้องการสะสม กระตุ้นให้เกิดการซื้อด้วยอารมณ์เป็นหลักนั่นเอง