รายได้ร้านสะดวกซื้อวูบตามพิษไวรัส CPALL เผย Q3/63 กำไร 3.99 พันล้านบาท ลดลงกว่า 28.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่เเล้ว ส่วนงวด 9 เดือนกำไร 1.25 หมื่นล้านบาท ลดลง 22.5% ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 13,000 แห่งในปีหน้า เร่งนำกลยุทธ์ O2O ผสมออฟไลน์-ออนไลน์มาใช้ รับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน
เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ Chief Financial Officer บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เเจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/63 มีกำไร 3,997.70 ล้านบาท หรือ 0.42 บาท/หุ้น ลดลง 28.8% จากงวดเดียวกันปีของ 2562 ที่มีกำไร 5,611.83 ล้านบาท หรือ 0.60 บาท/หุ้น
โดยในไตรมาส 3 ของปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 135,500 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 3.8%
สาเหตุหลักๆ มาจากการปรับตัวลดลงของรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ จากผลกระทบต่อเนื่องจาก COVID-19 ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 28,568 ล้านบาท ลดลง 7.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามา
บริษัทชี้แจงอีกว่า “ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนหนึ่งจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็นเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเชิงลบจากพายุฝนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในระหว่างไตรมาส ส่งผลให้จำนวนลูกค้าเข้าร้านลดลง ขณะที่รายได้จากการขายและบริการของธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเองในประเทศ สามารถกลับมาเติบโตได้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงรายได้จากการขายของธุรกิจในต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวมจำนวน 409,381 ล้านบาท ลดลง 3.2% จากช่วงเดียวกันของปืก่อน ขณะที่กำไรสุทธิมีจำนวน 12,529.84 ล้านบาท หรือ 1.31 บาท/หุ้น ลดลง 22.5% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 16,175.63 ล้านบาท หรือ 1.72 บาท/หุ้น
สำหรับเป้าหมายการขยายสาขา บริษัทได้กำหนด “เป้าหมายใหม่” ที่จะขยายสาขาให้ครบ 13,000 สาขา ภายในปี 2564
ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่รวมทั้งสิ้น 136 สาขาในทุกประเภท ทั้งร้านสาขาบริษัท ร้าน tore business partner (SBP) และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย มีอัตราเฉลี่ยคนเข้าต่อสาขาอยู่ที่ 917 คน โดยมียอดซื้อต่อบิล ประมาณ 75 บาท
ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัทมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 12,225 สาขา เเบ่งเป็น
- ร้านสาขาบริษัท 5,527 สาขา (คิดเป็น 45%)
- ร้านเปิดใหม่สุทธิ 71 สาขาในไตรมาสนี้
- ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,698 สาขา (คิดเป็น 55%)
- ร้านเปิดใหม่สุทธิ 65 สาขา ในไตรมาสนี้
โดยร้านสาขาส่วนใหญ่ ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งคิดเป็น 85% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
บริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขาในปี 2563 ส่วนงบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท จะเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500 ล้านบาท ส่วนโครงการใหม่, บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้าจะอยู่ที่ 4,000 – 4,100 ล้านบาท ด้านสินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท
ด้านผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ในไตรมาส 3 ปี 2563 มีกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เท่ากับ 5,668 ล้านบาท ลดลง 26.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,842 ล้านบาท ลดลง 31.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 ในกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ มีรายได้รวมจำนวน 249,641 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิมีจำนวน 13,172 ล้านบาท ลดลง 22.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับเข้าถึงผู้บริโภค จะเน้นใช้กลยุทธ์ O2O (Online to Offline) ผสมผสานธุรกิจจากออนไลน์เเละออฟไลน์ ตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค โดยจะส่งเสริมบริการเดลิเวอรี่เเละการช้อปปิ้งได้ 24 ชั่วโมง
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย