เจ้าของสโมสรฟุตบอล ของเล่นคนรวย

กีฬามหาชน คือ คำจำกัดความอย่างง่ายๆ ของฟุตบอล ในสายตาของกลุ่มทุนจากประเทศไทย ที่ตอนนี้ต่างพากันจับจ้องทีมสโมสรฟตุบอลทั้งในและต่างประเทศกันอย่างจ้าละหวั่น

ในกรณีของแบรนด์สินค้าอย่าง สิงห์ หรือช้าง การเป็นผู้สนับสนุนทีมฟุตบอลใดทีมหนึ่งเป็นเหตุผลทางการตลาดล้วนๆ แต่สำหรับกลุ่มทุนระดับ Billionaire เหล่านี้แล้ว

ฟุตบอล เป็นอะไรได้หลายอย่าง ทั้ง “ของเล่นคนรวย” ที่มีไว้ประดับบารมี เครื่องมือยืนยันถึงความมีอันจะกิน หรือแม้กระทั่งเกมการเมือง ที่ใช้ฟุตบอลมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างฐานเสียงก็ตาม

ความพยายามในการครอบครองทีมฟุตบอลของกลุ่มทุนไทยมีมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ยังดำรงตำแหน่ง ที่ได้ทาบทามไปยังทีมลิเวอร์พูลเพื่อเข้าซื้อกิจการ แต่ดีลก็ล้มไป แต่ในปีเดียวกันเบียร์ช้างก็ได้เซ็นสัญญากับทางเอฟเวอร์ตัน ทีมร่วมเมืองของลิเวอร์พูล เพื่อยึดพื้นที่บริเวณหน้าอกเสื้อของเอฟเวอร์ตัน

หลังจากนั้น ข่าวคราวกลุ่มทุนไทยกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเริ่มสร่างซา จนกระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณตัดสินใจเข้าซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2007 ก่อนขายออกไปในปีถัดมา

ขณะที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศอังกฤษดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อมไปในการครอบครอง กระแสของฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกก็ถูกจุดพลุขึ้นมาในชั่วข้ามคืน และพัฒนาจนกลายเป็นลีกกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาไทย

เริ่มต้นจากบรรดาเจ้าของธุรกิจต่างๆ ที่ก่อตั้งทีม หรือเข้ามาครอบครอง เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นหลัก รวมทั้งความชอบส่วนตัว ก่อนค่อยๆ พัฒนามาจนเป็นเวทีในการสร้างแบรนด์ และสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ที่เม็ดเงินต่างหลั่งไหลเข้ามาในโมเดลที่ไม่ต่างจากสโมสรชั้นนำระดับโลก อย่างเช่น การสนับสนุนของยามาฮ่า กับทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด หรือเบียร์ลีโอ กับบางกอกกลาส เอฟซี

และในปี 2010 ฤดูกาลล่าสุดของไทยพรีเมียร์ลีก ก็ได้มีกลุ่มทุนการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกกันอย่างคึกคัก อย่างเช่น เนวิน ชิดชอบ, วิทยา คุณปลื้ม, ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ หรือ ธเนศ เครือรัตน์

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของกลุ่มทุนไทยกับฟุตบอลลีกของอังกฤษก็ยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ เพราะในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า กลุ่มทุนนิรนามไทย ซึ่งในที่สุดก็เผยตัวออกมาว่า เป็นกลุ่มของนายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ที่ได้ขอซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสรเลสเตอร์ซิตี้