“สภาพัฒน์” เผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัว 6.4% “ดีกว่าที่คาด” ส่งผลให้ 9 เดือนเเรกของปีนี้ จีดีพีติดลบ 6.7% คาดทั้งปีจะติดลบ 6% จับตาปัจจัยเสี่ยง “ตกงาน” พุ่ง เร่งกระตุ้นเที่ยวในประเทศ มองปีหน้า 2564 กลับมาเป็นบวกได้ที่ 3.5-4.5%
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เเถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย (จีดีพี) ไตรมาส 3/63 หดตัว 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่เเล้ว ติดลบน้อยลงจากไตรมาส 2/63 ที่ติดลบสูงถึง 12.1% เนื่องจากผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19
ทำให้ 9 เดือนแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.7% ปรับตัวดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม โดยปัจจัยที่หนุนการเติบโตของไตรมาส 3 มากจากการคลายล็อกดาวน์ที่ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น
การส่งออก ในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัว 8.2% หดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัวถึง 17.8% หลังเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว และการขยายตัวของสินค้าส่งออกบางรายการที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่วนการนำเข้าสินค้าในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัว 17.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 23.4%
การลงทุนภาคเอกชน ยังหดตัว 10.7% แต่เป็นการหดตัวที่น้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 15% ขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างกลับมาขยายตัว 0.3% ด้านการลงทุนรวม ลดลง 2.4 % เทียบกับที่ลดลง 8% ในไตรมาสที่ 2/63
การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 18.5% เป็นผลจากการลงทุนของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 29.5% การลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 0.9% ส่วนการบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 3.4% ตามการขยายตัวของการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน
ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ มูลค่า ณ ราคาประจำปีลดลง 120.6 พันล้านบาท สินค้าคงคลังสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล ยานยนต์ การเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ และทองคำ
สำหรับสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือก การผลิตเครื่องประดับอัญมณีและสิ่งของอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม
ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล 257.2 พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล 397.5 พันล้านบาท และดุลบริการขาดดุล 140.3 พันล้านบาท
ในไตรมาส 3/2563 พบว่ามีผู้ว่างงาน 740,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90% ใกล้เคียงกับ 1.95% จากไตรมาส 2 โดยพบว่า แรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูง มีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น
ขณะที่แรงงานในระบบมีการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยผู้ขอรับสิทธิว่างงาน 488,000 คน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตันภาคบังคับที่ 4.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.5%
ส่วน “หนี้ครัวเรือน” เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/63 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/63 โดยมีสาเหตุจากการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจ ความเปราะบางทางการเงินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
“ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่หดตัวน้อยกว่าคาด ทำให้ สศช. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้ง เป็นหดตัวน้อยลงเหลือ 6% จากเดิมคาดว่าจะหดตัวประมาณ 7.5%”
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ที่คาดว่าจะ “ติดลบ 6.0%” นั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า การบริโภคภาคเอกชนจะติดลบ 0.9% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัว 3.6% การลงทุนภาคเอกชนติดลบ 8.9% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 13.7% มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐติดลบ 7.5% อัตราเงินเฟ้อติบลบ 0.9% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินทุน 2.8%
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 สศช. ประเมินว่า จะกลับมาขยายตัวที่ประมาณ 3.5-4.5% จากแรงหนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ จากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปีหน้า จะขยายตัว 4.2% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.4% การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 6.6% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวได้ประมาณ 0.7-1.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในะดับ 2.6% ของจีดีพี
ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2564 สศช. แนะนำในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
(1) ป้องกันการกลับมาระบาดระลอก 2 ในประเทศ
(2) ดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ผ่านการเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) ให้การช่วยเหลือดูแลแรงงาน
(4) รณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
(5) เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม
(6) ดำเนินการด้านวัคซีนป้องกัน COVID-19
(7) ขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% งบเหลื่อมปีให้ได้ไม่น้อยกว่า 85% และการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทให้ได้ไม่น้อยกว่า 70%
(8) ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ ๆ ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์
(9) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561 – 2563 ให้เกิดการลงทุนจริง ขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ
(10) การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง
(11) การรักษาบรรยากาศทางการเมือง
(12) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
อ่านรายละเอียด : ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2563 และแนวโน้มปี 2564