ต้นน้ำของบีเจซี

หากไม่ใช่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว โดยทั่วไปมักรับรู้แค่ว่า บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี มีแค่เพียงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น

แต่ Consumer Product เป็นแค่หนึ่งในธุรกิจของบีเจซีเท่านั้น

อันที่จริงแล้ว Industrial Supply Chain คือหน่วยธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับบีเจซีมากที่สุด ประมาณ 47% ของรายได้รวม

เจ้าของโรงงานบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 40% ในประเทศ เท่ากับบางกอกล๊าส หลังจากเข้าซื้อกิจการ มาลายากล๊าส โดยร่วมทุนกับบริษัท โอเว่น อิลลินอยส์ อิงค์ เมื่อไม่นานนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหน่วยธุรกิจนี้ที่มีต่อบีเจซีมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน นอกจากผลิตขวดเพื่อรองรับการเติบโตของเครื่องดื่มในเครือไทยเบฟฯ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เบียร์ช้าง และอื่นๆ ยังรับผลิตขวดแก้วหลากหลายรูปแบบทั้งประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอน-แอลกอฮอล์ และในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร ที่ความต้องการขวดแก้วยังคงมีอยู่ไม่สร่างซา และเป็นธุรกิจต้นน้ำที่สำคัญต่อการเติบโตของทั้งองค์กรอย่างมาก

สมพร ภูมิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของบีเจซีมาตั้งแต่ปี 2521 บอกว่า บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตให้กับไทยเบฟฯ เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น

หน้าที่ของหน่วยธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วจึงไม่ได้แค่มีขึ้นเพื่อตอบสนองผลิตภัณฑ์ในเครือเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม บรรจุภัณฑ์แก้วก็ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับแรกสำหรับสินค้าประเภทอาหาร

จุดเด่นของบรรจุภัณฑ์แก้ว แม้ว่าในปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกอย่างขวด PET จะกลายเป็นคู่แข่งที่สูสีที่สุดของขวดแก้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่แบรนด์ต้องการสร้างให้สินค้ามีภาพลักษณ์ที่หรู ดูดีกว่าคู่แข่งแบรนด์อื่นในตลาด โดยเฉพาะเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์

ขณะเดียวกัน การที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์หันมาผลิตเครื่องดื่มประเภท One Way หรือซื้อกลับโดยที่ไม่ต้องนำขวดมาคืนมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย ก็ส่งผลดีต่อบรรจุภัณฑ์แก้วเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทฯ เองก็ได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์สินค้า One Way มากขึ้น โดยได้ผลิตขวดให้บางลงกว่าขวดประเภทรีเทิร์น แต่ยังคงความแข็งแรงเช่นเดิม เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของแบรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มักพกพาขวดน้ำไว้ติดตัว

นอกจากนี้ ในส่วนของบริการลูกค้า ก็ได้จัดตั้งหน่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ เพราะตอนนี้มีแบรนด์สินค้าใหม่ประเภท Functional Drink ได้ติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งโจทย์ของสินค้าเหล่านี้ยากกว่าเครื่องดื่มประเภทอื่น เพราะต้องการบรรจุภัณฑ์ที่หวือหวา สะดุดตา เพื่อเรียกความสนใจจากผู้บริโภค

เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดบวกกับกำลังเงินในอนาคตของบีเจซี ที่พร้อมทำการควบรวมกิจการใหม่ๆ เสมอเมื่อมีโอกาส หน่วยธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต

รายได้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้ว

เครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ 30%

เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ 30%

สินค้าประเภทอาหาร 30%

อื่นๆ 10%