เตื่อยแจ๋ – วงในอุตสาหกรรมค้าปลีกเวียดนามเตือนว่า ประเทศกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียตลาดค้าปลีกทั้งหมดให้แก่ไทย
สินค้าเมดอินไทยแลนด์ ตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงสินค้าฟุ่มเฟือยกำลังบุกตลาดเวียดนามครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และบริษัทท้องถิ่นหลายรายดูเหมือนกำลังถูกซื้อโดยนักลงทุนไทย
เมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัทบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (TCC Holding) เข้าครองกิจการบริษัทขายส่ง เมโทรแคชแอนด์แครี่ ที่ดำเนินการอยู่ในเวียดนามอย่างเป็นทางการ จากบริษัทค้าส่งยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี เมโทร กรุ๊ป รวมมูลค่ากว่า 655 ล้านยูโร (ประมาณ 25,584 พันล้านบาท) ที่ประกอบด้วย ร้านขายส่ง 19 ร้าน และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องทั่วเวียดนาม
ส่วนนักลงทุนไทยรายใหญ่อีกรายหนึ่ง บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) สนใจที่จะซื้อบิ๊กซีเวียดนาม (Big C) จากบริษัทคาสิโนกรุ๊ป ผู้ประกอบการฝรั่งเศส
บริษัทค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศสรายนี้รายงานว่า ต้องการที่จะขายกิจการของบริษัทในเวียดนาม หลังเสร็จสิ้นการถ่ายโอนกิจการในไทยให้แก่บริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ในข้อตกลงมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อต้นเดือน
“หากบิ๊กซีเวียดนามขายให้แก่นักลงทุนไทย ก็สามารถพูดได้ว่า ตลาดค้าปลีกของเวียดนามทั้งหมดอยู่ในมือของไทย” หวู กิม แฮ็ง ประธานสมาคมธุรกิจสินค้าเวียดนามคุณภาพสูง กล่าว
ในปี 2556 บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ได้เข้าครองกิจการร้านค้าสะดวกซื้อเวียดนามจากบริษัทแฟมิลี่มาร์ทของญี่ปุ่น และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บีมาร์ท (B’s Mart) และต่อมา ในช่วงปีเดียวกันนั้น แฟมิลี่มาร์ททำงานร่วมกันกับหุ้นส่วนเวียดนามรายใหม่ รักษาการดำเนินกิจการของแฟมิลี่มาร์ทต่อไป และเพื่อไม่ให้สับสนกับ บีมาร์ท ที่ไทยบริหารอยู่
“ซูเปอร์มาร์เกตเป็นชิ้นส่วนที่ขาดหายในช่วงเวลานั้นเมื่อบริษัทของไทยเข้าบริหารตลาดค้าส่ง ร้านค้าสะดวกซื้อ และแม้แต่ช่องทางค้าปลีกดั้งเดิมในเวียดนาม” หวู กิม แฮ็ง กล่าวต่อหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋
แฮ็ง ยังกล่าวเสริมว่า ด้วยช่องทางค้าปลีกหลากหลายช่องทางตกอยู่ภายใต้การควบคุมของไทย ทำให้นักลงทุนไทยสามารถลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้โดยง่าย และจะเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้นสำหรับสินค้าเวียดนามที่จะเข้าไปในร้านค้าปลีกที่ไทยควบคุมอยู่
พื้นที่ชั้นวางสินค้าสำหรับสินค้าไทยเพิ่มจำนวนขึ้นในช่องทางค้าปลีกที่ไทยเป็นเจ้าของในเวียดนาม
ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งจากบริษัทค้าอาหารแช่แข็งที่มีสำนักงานในนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า พวกเขาได้หยุดผลิต “สินค้าตราห้าง” ที่เป็นตราสินค้าเฉพาะของร้านค้าปลีกนั้นๆ ให้แก่บริษัทเมโทรเมื่อปลายปีก่อน ก่อนที่บริษัทแคชแอนด์แคร์รี่ถูกขายให้แก่ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น
“กระบวนการหลายขั้นตอนใช้เวลานานกว่าปกตินับตั้งแต่ไทยเข้าควบคุมเมโทร ทั้งการดึงสินค้าบางตัวออกจากชั้นวาง และการปรับราคาที่ต้องใช้เวลากว่าจะมีผล” ผู้บริหารบริษัทอาหารแช่แข็ง กล่าว
ส่วนกิจการเวียดนามอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า นโยบายการค้าของเมโทรภายใต้เจ้าของใหม่เปลี่ยนแปลงไปมาก
“แม้เราจะได้ข้อเสนอค่าคอมมิชชันสูงขึ้น แต่ยอดขายชะลอตัวลงมาก” ผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง กล่าว
ชาวเวียดนามเลือกซื้อผักผลไม้ในซูเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย ชั้นวางสินค้าตามร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาเก็ตต่างๆ มักจะมีสินค้าจากไทยวางจำหน่ายร่วมด้วย เนื่องจากได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวเวียดนาม และการเข้าซื้อกิจการค้าปลีกของนักลงทุนไทย คาดว่าจะทำให้สินค้าไทยปรากฎอยู่ในตลาดเวียดนามมากขึ้นตามไปด้วย. — Reuters/Kham
น้ำปลายี่ห้อนี้จะมีวางจำหน่ายในประเทศไทยอีกไม่ช้าไม่นาน สินค้าแบรนด์ไทยโดยบุญรอดบริวเวอรี กำลังจะเข้าวางจำหน่ายในตลาดเวียดนาม เมื่อ “สิงห์เอเชีย” ประกาศเข้าลงทุนกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ในกลุ่มหม่าซัน (Masan Group) แห่งนครโฮจิมินห์ บริษัทขนาดใหญ่ของไทยอีกหลายแห่ง รวมทั้ง “กลุ่มเบียร์ช้าง” ต่างมุ่งหน้าขุดทองตลาดผู้บริโภค 100 ล้านคนในประเทศคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องพูดถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ตรึงพื้นที่มาก่อนใคร. — Reuters/Kham
ผู้อำนวยการบริษัทผู้ผลิตอาหารสดรายหนึ่ง กล่าวว่า บริษัทเมโทร แคชแอนด์แคร์รี่ เวียดนาม มีนโยบายการตลาดใหม่ที่เอื้อผู้จัดส่งสินค้าไทย
“ในสินค้าทุกประเภท มีเพียงสินค้าไทยที่ได้แคมเปญส่งเสริมการขายซ้ำ” ผู้อำนวยการบริษัทผลิตอาหารสด กล่าว
การปรากฏตัวของสินค้าผลิตในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นทั้งในร้านค้าปลีกที่ไม่ใช่เพียงแต่ชาวไทยเป็นเจ้าของเท่านั้น รวมทั้งร้านล็อตเต้มาร์ท และโคออปมาร์ท ของเกาหลีใต้ ที่เป็นเครือซูเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
“ธุรกิจไทยกำลังได้รับการสนับสนุนอย่างมหาศาลจากรัฐบาลทั้งด้านนโยบาย และทุนในโครงการบุกตลาดของพวกเขา” หวอ ซวน จุง ผู้อำนวยการบริษัทตัวแทนจำหน่ายขนมไทย กล่าว
ส่วนงานแสดงสินค้าไทยในนครโฮจิมินห์ จากที่เคยจัดเพียงปีละครั้ง ก็เพิ่มเป็น 4 ครั้งต่อปี ตั้งแต่ปี 2557 หวอ ซวน จุง ระบุ
“เราควรยอมรับว่าสินค้าไทยส่วนใหญ่นั้นคุณภาพดีกว่า และมีราคาน่าดึงดูดใจมากกว่าคู่แข่งท้องถิ่น”
เจิ่น แอ็ง ต่วน ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท Pathfinder ที่ให้คำปรึกษาด้านการตลาด สำนักงานในนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อเวียดนามที่จะสูญเสียตลาดในบ้านให้แก่ค้าปลีกไทย
“เมื่อผู้ค้าปลีกไทยอยู่ในเวียดนาม แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องพยายามที่จะเพิ่มการวางสินค้าของพวกเขา” เจิ่น แอ็ง ต่วน กล่าว
ต่วน ย้ำว่า นโยบายที่เหมาะสมควรมีขึ้นก่อนที่ความเสี่ยงใหญ่กว่านี้จะมาถึง
“อีกไม่นานเราจะไม่เห็นเพียงแค่ลูกค้าของเรารีบไปซื้อสินค้าไทย แต่บริษัทเวียดนามจะถูกซื้อโดยนักลงทุนไทยด้วย” เจิ่น แอ็ง ต่วน กล่าวเตือน