ส.อ.ท. เผยยอดคำสั่งพิมพ์ปฏิทิน ไดอารี การ์ดอวยพรปีใหม่จากธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้ลูกค้าส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (ปี 2564) ลด 15-20% เหตุธุรกิจตัดงบ ลดรายจ่ายหลังได้รับผลกระทบ COVID-19
เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า
ขณะนี้ยอดคำสั่งพิมพ์ปฏิทิน บัตรอวยพรส่งความสุขปีใหม่ หรือ ส.ค.ส. สมุดจดบันทึก (ไดอารี) เพื่อที่จะมอบเป็นของขวัญเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (พ.ศ. 2564) ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 15-20% เนื่องจากบริษัท ห้างร้านต่างๆ รวมถึงองค์กรภาครัฐหลายแห่งได้ตัดงบประมาณค่าใช้จ่ายลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบไวรัส COVID-19
“ภาวะที่เศรษฐกิจปกติที่ผ่านมาคำสั่งซื้อและจัดพิมพ์ปฏิทินจะดำเนินการสั่งล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เพื่อเตรียมส่งมอบเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ในช่วง ธ.ค.- ม.ค.ของทุกๆ ปี แต่ปี 2563 ยอมรับว่าเศรษฐกิจหดตัวค่อนข้างมากจากผลกระทบ COVID-19 ทำให้องค์กร ห้างร้านส่วนใหญ่ต้องลดรายจ่ายส่วนนี้ลงทำให้คำสั่งซื้อน้อยมาก โดยปกติปฏิทิน ไดอารีจะมีมูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท”
สำหรับคำสั่งพิมปฏิทิน สมุดจดบันทึก (ไดอารี) บัตรอวยพรส่งความสุข หรือ ส.ค.ส. ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เช่น กลุ่ม ปตท. และบริษัทลูก บริษัทพลังงานอื่นๆ รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มธนาคาร เป็นต้น ที่ยังมีคำสั่งพิมพ์เพื่อนำไปแจกกลุ่มลูกค้า
ขณะที่กลุ่มธุรกิจ SME นั้นมีอัตราลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากบางส่วนได้รับผลกระทบ และบางส่วนต้องเตรียมรัดเข็มขัดใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นสุดเพื่อรองรับการประคองธุรกิจในปี 2564 ที่ยังคงไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะการกลับมาระบาดของไวรัสรอบใหม่
“ตอนนี้จะมีคำสั่งพิมพ์พวกปฏิทินแขวนฝาผนังมากกว่าปฏิทินตั้งโต๊ะที่มีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย ส่วนหนึ่งเพราะถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์ (สมาร์ทโฟน) และไอแพด ที่มีระบบปฏิทินบอกในตัวอยู่แล้ว”
ขณะที่บัตรอวยพรตามเทศกาลต่างๆ ทั้งวันเกิดและรวมถึง ส.ค.ส.ปีใหม่นั้นได้ลดลงต่อเนื่องมาช่วง 5-6 ปีแล้วมากกว่า 90% เนื่องจากถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยบัตรอวยพรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) รวมทั้งในปัจจุบันมีเว็บไซต์เป็นจำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศที่ให้บริการส่ง E-card ในวาระหรือเทศกาลต่างๆ ที่สะดวก รวดเร็ว และไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้กลุ่มการ์ดรูปแบบเก่าลดจำนวนและค่อยๆ หายไปอย่างมากในตลาดทั้งในไทย และต่างประเทศ