‘ลาซาด้า’ เดินหน้าทำตลาด ‘LazGlobal’ ดึงสินค้านอกเข้าไทยเพิ่มความหลากหลาย

อ้างอิงข้อมูลของ ‘ไพรซ์ซ่า (Priceza)’ ในปี 2019 ที่ผ่านมาพบว่าสินค้าทั้งหมดจาก 3 แพลตฟอร์ม e-Marketplace ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น ‘ลาซาด้า’ ‘ช้อปปี้’ และ ‘เจดีเซ็นทรัล’ มีสินค้ารวมกันถึง 174 ล้านชิ้น จากที่ในปี 2018 มีเพียง 74 ล้านชิ้นหรือเติบโตกว่า ‘2.4 เท่า’ และในจำนวนกว่า 174 ล้านชิ้นนี้เป็นสินค้าที่มาจากต่างประเทศหรือสินค้า Cross Border กว่า 77% หรือกว่า 135 ล้านชิ้นไปแล้ว จากตัวเลขดังกล่าวผู้ประกอบการไทยที่ขายของบนนั้นคงจะหนาว ๆ ร้อน ๆ บ้าง แต่แค่นั้นคงไม่พอ เพราะ ‘ลาซาด้า (Lazada)’ ได้ออกตัวแล้วว่าจะพยายามดันตลาดสินค้า Cross Border ให้เป็นที่รู้จักกว่านี้

ผุด ‘Lazada Un(Expected) Box’ สานต่อกลยุทธ์ o2o

ย้อนไปในเดือนสิงหาคม 2563 ลาซาด้าเคยเปิดตัวแคมเปญ ‘Lazada On Ground’ ที่นำสินค้าจากลาซาด้ามาจัดวางผ่านป๊อปอัพสโตร์ ที่สยามเซ็นเตอร์ โดยลูกค้าสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดสั่งซื้อสินค้าที่สนใจได้ทันที ซึ่งถือเป็นการนำกลยุทธ์ O2O มาใช้ และในเดือนธันวาคมนี้ ลาซาด้าก็ได้สานต่อกลยุทธ์ดังกล่าวด้วย ‘Lazada Un(Expected) Box’ นิทรรศการ Pop Up ที่ผสานอีคอมเมิร์ซเข้ากับศิลปะที่สยามดิสคัฟเวอรี่

โดยภายในงานจะมีการจัดห้องจำนวน 15 ห้องใช้แสดงสินค้าจากหลายประเทศ ทั้งสินค้าความงามและแฟชั่น, เครื่องใช้และของประดับตกแต่งบ้าน รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และแกดเจ็ตต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เยี่ยมชมและช้อปสินค้าจาก ‘LazGlobal’ แพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าจากต่างประเทศของลาซาด้า ที่ปัจจุบันเปิดตัวมากว่า 5 ปี มีร้านค้าทั้งหมดกว่า 70,000 ร้านจากประเทศเดนมาร์ก อังกฤษ สวีเดน รวมถึงล่าสุดกับสินค้าจากเกาหลีและญี่ปุ่น

“เราต้องการสร้างการรับรู้ให้กับ LazGlobal กับผู้บริโภค ดังนั้นเราไม่ได้คาดหวังเรื่องยอดขาย แต่เราอยากจะถึงวัยรุ่นเจน Y และ Z เข้ามา โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าชมอย่างน้อย 1 แสนรายในช่วงระยะเวลา 1 เดือนครึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมจนถึง 16 มกราคมปี 65” กิตติพงษ์ หยู รองประธานและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ LazMall Cross-border บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าว

นางสาวแคลร์ จาง รองประธานอาวุโส และหัวหน้าฝ่าย Cross-border บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) และกิตติพงษ์ หยู รองประธานและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ LazMall Cross-border

ยัน! ให้ความสำคัญกับ ‘ร้านไทย’

ลาซาด้ายืนยันว่ายังคงให้ความสำคัญกับร้านค้าและ SME ไทย โดยสินค้าไทยที่ขายบนลาซาด้านั้น ลาซาด้าไม่ได้เก็บค่าคอมมิชชั่น แต่ร้านค้าจากต่างประเทศต้องเสียคอมมิชชั่น 4% และที่ผ่านมา ลาซาด้าพยายามผลักดันให้ SME ไทยขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม โดยมีการจัดเทรนนิ่งฟรี มีการจัดคอสอบรมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งนี่คือการลงทุนกับแบรนด์ไทย อย่างในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมามีร้านค้าไทยรายใหม่ที่เข้าสู่ระบบของลาซาด้ากว่า 90,000 ราย

นอกจากนี้ ลาซาด้าเองก็พยายามผลักดันแบรนด์ไทยไปขายต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มของ ‘Tmall Global’ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอาลีบาบาซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้แบรนด์จากต่างประเทศสามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคในจีนได้ โดยปัจจุบันมีแบรนด์ไทยอย่าง ‘มิสทีน’ และ ‘ปัญญ์ปุริ’ ที่ขายอยู่บน Tmall ส่วนแผนการนำสินค้าไทยไปขายบน LazGlobal ในประเทศอื่น ๆ นั้นเป็นแผนในอนาคต ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ขยายไปเป็นเพราะติดข้อกฎหมายของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

“เราไม่สามารถเปิดเผยสัดส่วนของสินค้าไทยและสินค้าจากต่างประเทศบนแพลตฟอร์มได้ แต่ยืนยันว่ายอดขายของ LazGlobal ยังเป็นสัดส่วนที่เล็กและคงไม่เติบโตไปมากกว่านี้ เนื่องจากคนไทยมักซื้อสินค้ากับร้านคนไทย เพราะคงไม่มีใครรู้จักลูกค้าดีเท่าคนในประเทศนั้น ๆ อีกทั้งผู้บริโภคไม่อยากรอสินค้าจากต่างประเทศที่ใช้เวลาส่ง 7-10 วัน แต่ร้านไทยไม่เกิน 3 วัน”

ต้องดัน LazGlobal เพื่อความหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องผลักดัน LazGlobal ก็เพราะ 1.แสดงถึงประสิทธิภาพของระบบ ‘โลจิสติกส์’ ของ ‘ไช่ (Cainiao)’ ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบา 2.ต้องการเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้าบนแพลตฟอร์ม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคพยายามหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด ซึ่งลาซาด้าพยายามคัดเลือกสินค้าที่ไม่มีในไทย หรือหาซื้อยากมากจำหน่ายใน LazGlobal และสินค้านั้น ๆ ต้องมีคุณภาพดี ราคาจับต้องได้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ LazGlobal เป็นแหล่งรวมสินค้าไลฟ์สไตล์และครีเอทีฟ

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้า Cross Border ที่ขายดีจะเป็นสินค้าแฟชั่น, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าไลฟ์สไตล์ รวมถึงเครื่องครัว

แน่นอนว่าการทะลักของสินค้าจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ร้านค้าไทยเองที่อาศัยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอาจหนักใจไม่ใช่น้อย ดังนั้น อาจต้องสร้างจุดแข็งใหม่ ๆ อย่าง บริการหลังการขาย และ ความรวดเร็วในการจัดส่ง ที่เป็นจุดอ่อนของร้านต่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของแบรนด์เองอาจจะต้องพยายามหาทางขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ อีกทาง บอกได้คำเดียวว่างานนี้คงต้องเหนื่อยอีกเยอะ