โออิชิในเงาตัน

หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์จะเห็นว่า โออิชิ กรุ๊ป มีผลิตภัณฑ์ที่ไปไม่ถึงฝั่งมากกว่าที่ประสบความสำเร็จ ทั้งเซกิ คอฟฟิโอ อะมิโน โอเค แต่โดยภาพรวมแล้ว ตันขับเคลื่อนโออิชิ กรุ๊ปจนมีผลประกอบการที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดมา

เขาปั้นชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ ให้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่ปีแรกที่ลงตลาด กลบหนอนยูนิฟที่เคยฮือฮาไปจากใจผู้บริโภค ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 63% ส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นก็มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 มากกว่า 50%

แคมเปญการตลาดของเขาฉีกกฎทุกตำรา ไม่ต้องเรียน Warton ไม่ต้องจบ Harvard แต่ตันทำตลาดอย่างมั่นใจด้วยดีกรี ม.3 สร้างปรากฏการณ์ตลาดแบบ Talk of the town มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รวยฟ้าผ่า 30 ฝา 30 ล้าน และ ไปแต่ตัว ทัวร์ยกแก๊ง

เขาบอกว่าความรับผิดชอบของเขาที่เป็นสัญญาใจกับลูกที่ให้กำเนิดมาอย่างโออิชิถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อเข้าตลาดราคาหุ้นของ OISHI อยู่ที่ 19 บาท จากนั้นตอนขายหุ้นให้กับเจริญ สิริวัฒนภักดี อยู่ที่ 32 บาท และปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 70 บาท ขณะที่ผลประกอบการก็ดีขึ้นเป็นลำดับ แม้อำนาจตัดสินใจจะไม่ได้อยู่ที่เขา 100% มานานเกือบ 5 ปีแล้วก็ตาม

“ผมสิ้นสุดความเป็นเจ้าของโออิชิตั้งแต่วันที่ขายหุ้นให้กับไทยเบฟฯ แล้ว ตอนนี้ผมทำให้ดีกว่าเดิมได้แล้ว ค่อยส่งมอบให้กับเจ้าของ ความรับผิดชอบของผมครบถ้วนแล้ว”

ปี 2552 ที่ผ่านมา มีรายได้ 7,160 ล้านบาท กำไร 751 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2553 นี้ มีรายได้ 2,160 ล้านบาท กำไร 193 ล้านบาท

ตันลาออกแต่ไมได้ขายหุ้น 3.5% ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะถือหุ้นต่อไปอีกนานแค่ไหน ขณะที่ สุนิสา สุขพันธุ์ถาวร ภรรยาคู่ใจยังคงดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการต่อไป โดยรับผิดชอบในส่วนของ HR และเธอบอกว่ายังไม่มีแผนที่จะลาออกแต่อย่างใด

“ถ้าคลื่นลูกเก่าอย่างผมไม่เข้าฝั่ง ก็ไม่มีคลื่นลูกใหม่เสียที มันไม่ใช่เรื่องเศร้า เรื่องโหดร้ายอะไร การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี เหมือนต้นคริสต์มาสก็มีวาระของมันเปลี่ยนสีของใบจากเขียวเป็นแดงจากแดงเป็นเขียวอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครเป็นพระเอกตลอดกาล อยากเป็นเขาก็ไม่ให้เป็น ถึงเวลาก็ต้องมาเล่นเป็นพ่อ ถ้าผมยังอยู่อาจจะยิ่งแน่นแฟ้นกับโออิชิมากกว่าเดิม ยิ่งจะเป็นปัญหาในอนาคต”

คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเขาวางมือจากโออิชิอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่รับแม้ตำแหน่งที่ปรึกษาใดๆ แล้วทิศทางของโออิชิจะเป็นอย่างไรต่อไป ใครจะมาสวมนามสกุลโออิชิได้สมบทบาทเท่าเขา Benchmark ที่มีจึงดูเป็นงานยากสำหรับไทยเบฟฯ เหลือเกิน

กระนั้น เขาเชื่อว่ามีวิธีหลายวิธีที่ไปสู่ความสำเร็จได้ แม้จะไม่ได้ใช้กลยุทธ์หรือหลักการบริหารเช่นเดียวกับเขาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าไทยเบฟฯ จะควบโออิชิเข้าไปอยู่ในพอร์ตด้วย เนื่องจากมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของกลุ่ม Non-Alcohol ให้มากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันแม้จะเดินหน้าดันน้ำดื่มช้าง โซดาช้าง แรงเยอร์ และอื่นๆ อย่างเต็มสูบก็ตาม การเดินเกมลัดด้วยการผนวกโออิชิ จะทำให้กลุ่ม Non-alcohol ของไทยเบฟฯ มีสีสันและมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นทันตา

ต้องจับตาว่าไทยเบฟฯ จะส่งใครมาเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ จะโยกย้ายแม่ทัพที่มีอยู่อย่าง ชาลี จิตจรุงพร หรือ มารุต บูรณะเศรษฐกุล มากุมบังเหียนนี้หรือไม่ หรือจะเป็นการดึงมือดีมาจากบริษัทอื่น

แต่ที่แน่ๆ โออิชิเมื่อไร้เงาตันเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของไทยเบฟฯ ว่าจะหันหัวเรือให้ตรงท่าได้เมื่อไหร่
แต่สำหรับตัน สิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้ก็คือคำกล่าวที่ว่า “เรือเมื่อถึงท่า หัวก็ตรงเอง”