7 ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม หากอังกฤษต้องเผชิญ No-deal Brexit

อังกฤษกำลังอยู่ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” โดยสถานะขณะนี้พ้นจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว แต่ยังต้องเจรจาข้อตกลงทางเศรษฐกิจให้จบภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ มิฉะนั้นก็จะเป็น No-deal Brexit อย่างเป็นทางการ และถ้าเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น อังกฤษจะได้รับผลกระทบ 7 ด้าน

วันนี้ (10 ธันวาคม 2020) “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะรับประทานอาหารค่ำกับ “เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม มื้ออาหารนี้ไม่ธรรมดาเพราะจะเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของจอห์นสัน เพื่อหาข้อตกลงร่วมในการกำหนดความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอังกฤษกับสหภาพยุโรป

จอห์นสันมีความตั้งใจที่จะทำให้ดีลชัดเจนขึ้นภายในสุดสัปดาห์นี้ แต่ก็ยังคงหนักแน่นในจุดยืนว่าอังกฤษจะเป็นชาติอิสระที่ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขณะขึ้นเครื่องเพื่อบินไปเจรจากับเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม (Photo : Twitter@BorisJohnson)

แม้ว่าจอห์นสันจะประกาศกร้าวมานานแล้วว่าเขา “พร้อมรับสถานการณ์ No-deal Brexit” แต่เชื่อได้ว่าเขาเองก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์นั้นเกิดขึ้น และถ้าหากเกิดขึ้นจริง สำนักข่าว Reuters ได้วิเคราะห์ผลกระทบ 7 ด้านจากการไร้ดีลการค้าเมื่อออกจากการเป็นสมาชิก EU ของอังกฤษ ดังนี้

 

1. เงินปอนด์อ่อนค่า

นักลงทุนและสถาบันการเงินคาดการณ์ไว้นานแล้วว่า ข้อตกลงทางการค้าจะสำเร็จได้ ดังนั้น ถ้าหากผลพลิกผันเป็น No-deal Brexit สถานการณ์จะซ้ำเติมให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงอีก

เงินปอนด์เคยร่วงลงรุนแรงที่สุดภายในวันเดียวมาแล้ว เมื่อวันประกาศผลการลงประชามติปี 2016 ที่ปรากฏว่าอังกฤษโหวตออกจาก EU ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่า 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันค่าเงินปอนด์อยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.34 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2016 ก่อนการลงประชามติอยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.45 ดอลลาร์สหรัฐ

 

2. กำแพงภาษี ส่งออกแข่งขันยาก ของนำเข้าแพงขึ้น

หากไม่มีดีลการค้าใดๆ เลย อังกฤษจะสูญเสียตลาดปลอดภาษีในยุโรปไปในชั่วข้ามคืน โดยตลาดนี้มีประชากรกว่า 450 ล้านคน จึงเป็นฐานการส่งออกสินค้าที่สำคัญมากของอังกฤษ ในทางกลับกัน อังกฤษก็จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปด้วย ทำให้ประชาชนและธุรกิจอังกฤษต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาแพงขึ้น

ในแง่ผู้บริโภคทั่วไป เป็นไปได้ว่าสินค้า “กลุ่มอาหาร” จะกระทบหนักที่สุด อังกฤษอาจจะขาดแคลนอาหารจากยุโรปไประยะหนึ่ง โดยอังกฤษมีการนำเข้าอาหารสดถึง 60% ของที่มีในตลาด

แผนกอาหารสดใน Tesco สหราชอาณาจักร (Photo : Shutterstock)

ทั้งนี้ “จอห์น อัลลัน” ประธานบริษัท Tesco ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของอังกฤษระบุว่า การขาดแคลนอาหารสดอาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวเพียง 1-2 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนราคาอาหารสดนำเข้าโดยเฉลี่ยน่าจะสูงขึ้น 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร บางชนิดอาจจะราคาสูงขึ้นมาก เช่น ชีสจากฝรั่งเศสสามารถปรับราคาขึ้นได้สูงสุด 40% ดังนั้น ผลกระทบต่อผู้บริโภคแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ รับประทานของนำเข้ามากแค่ไหน

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มี EU เป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน คาดว่าจะมีผลกระทบหลักกับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ คือ ยานยนต์, อาหารและเครื่องดื่ม, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, ยาและเวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

สหภาพยุโรปนั้นเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ โดยมีสัดส่วนถึง 47% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดในปี 2019 โดยมีมูลค่ารวมราว 7.9 หมื่นล้านปอนด์

 

3.ธุรกิจยานยนต์อ่วมสุด

ในบรรดาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว อุตสาหกรรมที่จะรับเคราะห์หนักที่สุดคือ “ยานยนต์” เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปยัง EU จะเผชิญกำแพงภาษี 10% ทันที และสูงขึ้นเป็น 22% สำหรับรถประเภทรถบรรทุกและรถตู้ เมื่อเกิดการขึ้นภาษี เป็นไปได้สูงที่ภาระนี้จะถูกผลักลงในราคารถยนต์ และทำให้ผู้บริโภคยุโรปที่ต้องการซื้อรถอังกฤษต้องจ่ายแพงขึ้น

(Photo by Zhang Peng/LightRocket via Getty Images)

เครือข่ายผู้ผลิตและผู้ค้ายานยนต์แห่งอังกฤษเปิดเผยว่า No-deal Brexit จะทำให้การผลิตรถยนต์ในอังกฤษลดลง 2 ล้านคันในรอบ 5 ปีข้างหน้า และมีผลให้การพัฒนายานพาหนะปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ทำได้ช้าลง

Reuters ยังรายงานเสริมด้วยว่า อีกประเด็นที่จริงๆ แล้วมีผลกระทบกับเศรษฐกิจน้อยแต่มีผลเชิงสังคมสูงคือ “ธุรกิจประมง” การเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนทำประมงกับฝรั่งเศสจะเป็นเรื่องใหญ่ในข้อตกลง แม้ว่าการประมงจะมีสัดส่วนเพียง 0.03% ในมูลค่าเศรษฐกิจของอังกฤษก็ตาม

 

4.เศรษฐกิจป่วนทั้งสองฝั่ง

สำนักงานตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างรับผิดชอบของอังกฤษ ประเมินว่า หากอังกฤษพ้นสมาชิก EU แบบไร้ข้อตกลงทางการค้า จะทำให้ขนาดเศรษฐกิจอังกฤษลดลง 2% ขณะเดียวกัน จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อัตราว่างงานสูงขึ้น และหนี้สาธารณะสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝั่ง EU ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน บริษัท Allianz ประเมินว่าการออกแบบไร้ดีลจะทำให้สหภาพยุโรปสูญเสียตลาดส่งออกมูลค่า 3.3 หมื่นล้านยูโรไป โดยมีประเทศที่รับผลหนักที่สุดคือ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส รองลงมาคือไอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส โปแลนด์ เช็ก ไซปรัส มอลต้า และฮังการี

สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจ Halle คาดการณ์ว่าบริษัทใน EU ที่ทำการส่งออกไปอังกฤษ เมื่อได้รับผลกระทบจากการไร้ข้อตกลงการค้า จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการว่างงานถึง 7 แสนตำแหน่งในอุตสาหกรรมนี้

 

5.ปัญหาไอร์แลนด์เหนือ

เนื่องจากข้อตกลง Brexit ไม่ได้ออกจาก EU กันหมดทั้งสหราชอาณาจักร เฉพาะไอร์แลนด์เหนือนั้นจะยังอยู่ในระบบตลาดปลอดภาษีของ EU ต่อไป ทำให้ต้องมีข้อตกลงเรื่องการจัดตั้งด่านตรวจและเอกสารระหว่างสองดินแดน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน

แผนที่สหราชอาณาจักร ดินแดนไอร์แลนด์เหนือนั้นอยู่บนเกาะทางตะวันตกและมีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Photo : ontheworldmap.com)

ถ้าหากอังกฤษออกแบบไร้ดีลการค้า ก็จะยิ่งทำให้ปัญหานี้ซับซ้อนขึ้นอีก เพราะดินแดนไอร์แลนด์เหนืออาจจะกลายเป็นประตูหลังบ้านในการนำเข้าส่งออกสินค้ากับ EU ได้ ส่งผลให้แนวคิดการจัดตั้งด่านชายแดนแบบเข้มงวด (hard border) ในไอร์แลนด์ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง หลังจากเรื่องนี้ถูกระงับไปตั้งแต่เกิดข้อตกลงสันติภาพ Good Friday Agreement ปี 1998

หากเกิดด่านชายแดนเข้มงวดขึ้นจริง จะมีผลทางสังคมกับคนในพื้นที่ที่เดินทางเข้าออกไปทำงานหรือไปเที่ยวในสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นประจำ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องให้การขอแยกตัวเป็นเอกราชของไอร์แลนด์เหนือปะทุขึ้นมาอีก โดยในอดีตกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ IRA เคยเคลื่อนไหวอยู่นานถึง 30 ปี ก่อนเกิดข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว

 

6.ความขมขื่นทางการเมือง

การหย่าร้างของ EU กับอังกฤษยังจะมีผลในแง่ขั้วอำนาจทางการเมืองโลกด้วย ท่ามกลางการแผ่ขยายของมหาอำนาจตะวันออกอย่างจีนและรัสเซีย และการระบาดของ COVID-19 หากมีเรื่องยุ่งยากทางการเมืองโลกเกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างจะกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน

ภายใน EU เองก็น่าจะเกิดความปั่นป่วนเช่นกัน เพราะได้สูญเสียหนึ่งในผู้นำทางการทหารและปฏิบัติการสายลับของยุโรป รวมถึงเป็นตลาดเศรษฐกิจอันดับสองทวีป และเป็นเมืองหลวงทางการเงินแห่งเดียวที่พอจะเทียบชั้นกับนิวยอร์กได้ หลังจากนี้ อังกฤษน่าจะหันไปพึ่งพิงพันธมิตรยาวนานอย่างสหรัฐอเมริกามากขึ้นแทน

 

7.”ลอนดอน” เมืองหลวงทางการเงิน?

ดีลการค้านี้แน่นอนว่าจะไม่สามารถช่วยปกป้องอุตสาหกรรมที่แข่งขันสูงที่สุดในโลกอย่าง “ธุรกิจการเงิน” ทำให้บรรดานักลงทุนและธนาคารในลอนดอนต่างเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อรับความวุ่นวายจากการ Brexit

โดยปกติลอนดอนคือศูนย์กลางการเงินโลก แหล่งตลาดเงินมูลค่ากว่า 6.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 43% ของโลก ในขณะที่คู่แข่งในยุโรปอันดับสองคือปารีสนั้น ตามมาในสัดส่วนเพียงแค่ 2% อย่างไรก็ตาม กรณี Brexit น่าจะทำให้สหภาพยุโรปพยายามดึงส่วนแบ่งตลาดมาจากลอนดอนมากขึ้น

ย้อนกลับไปในปี 2016 กลุ่มผู้สนับสนุน Brexit เคยมองว่าการออกจาก EU เป็น “เรื่องง่ายๆ” แต่มาถึงวันนี้คงไม่มีใครกล้าพูดเช่นนั้นอีกแล้ว

Source: Reuters, BBC, The Guardian