แม็กคินซี สก็อตต์ อดีตภรรยาของเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon.com กลายเป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลกในปีนี้หลังจากหย่าร้างกับสามี ความน่าสนใจคือชื่อของเธอไม่ได้ถูกขึ้นทำเนียบบัญชีเศรษฐีนีโลกเท่านั้น แต่ยังถูกจัดอันดับให้เป็น “นิวคัมเมอร์” หรือผู้มาใหม่ในตารางหญิงทรงอิทธิพลของโลกปี 2020 ด้วย
เรื่องนี้ไม่ธรรมดาเพราะบัญชีผู้หญิงทรงอิทธิพลของโลกนั้นเต็มไปด้วยคนดังที่มีบทบาทกับโลกแบบจับต้องได้ โดย 16 นิวคัมเมอร์ในตารางปีนี้มีทั้งกมลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เป็นผู้หญิงและเป็นคนผิวสี และเคลลี่ ชาง ซีอีโอบริษัท ByteDance ชาวจีน รวมถึงซีอีโอและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหลายประเทศ
คำถามคือแม็กคินซี สก็อตต์ใช้ทรัพย์สินที่ได้มาแบบไหน จึงโดดเด่นจนมีผู้ยกตำแหน่งผู้หญิงทรงอิทธิพลของโลกอันดับ 67 ให้ ซึ่งเป็นอันดับที่เหนือกว่านายกรัฐมนตรีฟินแลนด์อย่างซันนา มาริน ที่ครองอันดับ 85 เสียอีก
ไม่แค่ร่ำรวย แต่มีอำนาจด้วย
หลังจากอยู่กินกับสามีเป็นเวลา 25 ปี แม็กคินซี สก็อตต์ทิ้งนามสกุลเบโซสแล้วกลับไปใช้ชื่อกลางของคุณปู่ การหย่าร้างทำให้เธอมีทรัพย์สินมูลค่าสุทธิ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) และกลายเป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในรายชื่อของปีนี้ก็จริง แต่แม็กคินซีสามารถยืนยันให้โลกเห็นว่าเธอไม่ใช่แค่คนร่ำรวย เธอสามารถเป็นคนที่มีอำนาจล้นมือด้วย จนฟอร์บส์ (Forbes) ทนไม่ไหวต้องจัดอันดับให้แม็กคินซีอยู่ในรายชื่อผู้หญิง 100 คนที่มีอิมแพคต่อโลกมากที่สุดประจำปีนี้
สื่อดังอย่างฟอร์บส์ให้เหตุผลว่าแม็กคินซีเป็น “ตัวอย่างที่สำคัญ” ของเศรษฐีนี ที่ใช้อำนาจความมั่งคั่งของตนเพื่อ “สร้างการเปลี่ยนแปลง” ผ่านธุรกิจองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และงานการกุศล
แม็กคินซีไม่เสียดายเงิน และทุ่มเงินบริจาคจำนวนมากหลังจากการแยกทางกับสามีเมื่อปี 2019 เวลานั้นแม็กคินซี กลายเป็นมหาเศรษฐีนีในชั่วข้ามคืนเพราะการขายหุ้น Amazon บางส่วนที่ได้รับมา เงินสดๆ 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐถูกแม็กคินซีวางแผนหักไปครึ่งหนึ่งเพื่อบริจาคให้กับองค์กรการกุศล กลายเป็นข่าวดังทั่วโลกเพราะแม็กคินซีลงนามในการสัญญา Giving Pledge ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีคนดังอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ และบิล เกตส์
การลงนามนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2019 ไม่นานหลังจากที่เธอประกาศการหย่าร้าง ซึ่ง 1 ปีต่อมาแม็กคินซีได้เริ่มทำตามสัญญาด้วยการมอบเงินเกือบ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับองค์กรการกุศล 116 แห่ง
แม็กคินซีในวัย 50 ปีไม่หยุดแค่การบริจาค เธอจับคู่กับเมลินดา เกตส์ ภรรยาของผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 ของรายชื่อสตรีผู้ทรงอิทธิพลในปีนี้ เพื่อทำโครงการ Equality Can’t Wait Challenge ซึ่งระดมเงินบริจาค 40 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรได้สำเร็จ
ไม่พอ แม็กคินซีบรรยายในบล็อก Medium ว่าเธอได้เห็นเหตุการณ์มากมายหลายอารมณ์ในปี 2020 เธอรู้สึกทั้งเสียใจและสยดสยองในโครงสร้างทางสังคมที่มอบโอกาสให้กับคนบางคนเท่านั้น ขณะที่อีกหลายกลุ่มมีแต่อุปสรรคและไม่เท่าเทียม เธอจึงมองว่าการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างโลกที่ดีกว่า
มองใหญ่สร้างโลกที่ดีขึ้น
แม็กคินซียืนยันว่าแนวทางในการ “ทำบุญ” ของเธอจะเน้นความรอบคอบ หลายโครงการต้องใช้เวลาและความพยายาม รวมถึงการดูแลเอาใจใส่ แต่เธอย้ำว่าจะไม่นั่งรอ และจะทำต่อไปจนกว่าจะไม่อาจทำได้
แนวคิดการมุ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการระดมทุนอาจเกี่ยวข้องกับชาติกำเนิดของแม็กคินซี ก่อนจะมาเป็นนักเขียนและคุณแม่ลูก 4 (บุตรชาย 3 บุตรบุญธรรม 1) หนูน้อยแม็กคินซีเติบโตในครอบครัวร่ำรวยซึ่งมีบ้านในแคลิฟอร์เนียและอีกหลังในซานฟรานซิสโก พ่อของแม็กคินซีเป็นนักวางแผนทางการเงิน ในขณะที่แม่เป็นแม่บ้านที่มีดีกรีเป็นประธานกลุ่มระดมทุนหลายโครงการ จนสาวแม็กคินซี่ได้พบกับหนุ่มเบโซส ก่อนจะเริ่มก่อตั้งอาณาจักร Amazon ในฐานะร้านหนังสือออนไลน์จากโรงรถของทั้งคู่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรักการอ่านของแม็กคินซี
แม็กคินซียอมรับว่าธุรกิจที่รุ่งเรืองเป็น “โชคดีที่เราไม่มีทางเข้าใจได้ทั้งหมด” สำหรับการบริจาคเงินสินสมรสจากการหย่า แม็กคินซีบอกว่านอกเหนือจาก “ทรัพย์สินชีวิต” ใดๆ ที่ได้หล่อเลี้ยงในตัวเธอแล้ว เธอยังมี “เงินส่วนแบ่งที่ไม่สมสัดส่วน” สำหรับแบ่งปันให้กับสังคมด้วย
แม็กคินซีไม่ใช่เศรษฐีนีคนแรกที่ขึ้นทำเนียบผู้หญิงทรงอิทธิพลของโลก สำหรับปี 2020 มีมหาเศรษฐีนี 12 คนในรายชื่อ 100 สตรีที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกประจำปีนี้ มูลค่าทรัพย์สินรวมกันหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ บุคคลที่โดดเด่นและโลกรู้จักดีคือเมลินดา เกตส์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation และ Pivotal Ventures รวมถึงลอรีน พาวเวลล์ จ็อบส์ ภรรยาม่ายของสตีฟ จ๊อบ ผู้ก่อตั้ง Apple ที่เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 42 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลอรีนเป็นผู้ก่อตั้งและประธานโครงการการกุศล Emerson Collective
การตั้งโครงการการกุศลเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นสำหรับบันไดสู่การทรงอิทธิพลระดับโลก เพราะยังมีผู้หญิงหลายรายที่สามารถสร้างอิมแพคให้โลกจากประสบการณ์การทำงาน เช่นเจ้าแม้สื่ออย่างโอปราห์ วินฟรีย์ ซึ่งอยู่ในทำเนียบหญิงทรงอิทธิพลอันดับที่ 20 ในขณะที่จีน่า ไรน์ฮาร์ต ชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นประธานบริหารบริษัทเหมืองแร่ Hancock Prospecting อยู่ในอันดับที่ 45.
ที่มา :