“ดีใจที่มาหาถึงบ้าน” จากการเดินทางส่งมอบความอบอุ่น ผ่านความใส่ใจและรักษ์โลก


ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2543 ภัยหนาวครั้งใหญ่ได้แผ่เข้าปกคลุมประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ด้วยอุณหภูมิที่หนาวเย็นและลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะติดลบ ทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง จนมีรายงานถึงผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นดังกล่าว

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ทราบถึงความเดือดร้อนและมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งไปถึงพี่น้องคนไทยด้วยกัน และนำมาสู่จุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือและแบ่งปัน

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า ‘คนไทย ให้กันได้’ และก่อเกิดโครงการ ‘ช้าง รวมใจต้านภัยหนาว’ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น ‘ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว’ ด้วยการออกเดินทางเพื่อนำความอบอุ่นภายใต้ผ้าห่มผืนเขียวผืนนี้ไปมอบให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย เพื่อช่วยบรรเทาความหนาวเย็น ปีละจำนวน 2 แสนผืน

จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 21 ปีเต็ม ที่ผ้าห่มผืนเขียวนี้ ได้ห่มคลุมให้คลายหนาว และแผ่ขยายความอบอุ่นไปสู่ผู้ประสบภัยยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านโครงการ “ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว” โดยใน ปีที่ 21 ไทยเบฟ ได้ส่งมอบความใส่ใจและรักษ์โลก ด้วยการนำขวดพลาสติก PET หลังการบริโภคเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ทำการเก็บขวดพลาสติก PET จำนวน 7,600,000 ขวด เพื่อนำส่งต่อให้กับบริษัทผู้ผลิต เม็ดพลาสติกนำไปถักทอเป็นเส้นใยเพื่อถักทอเป็น “ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก” จำนวน 200,000 ผืน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวรวม 15 จังหวัด 194 อำเภอ

นับเป็นปีแรกที่ ไทยเบฟ นำเส้นใย rPET มาใช้ในการผลิตผ้าห่ม ซึ่งเมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตเส้นใย โพลีเอสเตอร์ปกตินั้น จะใช้น้ำลดลงถึง 94% และใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 60% ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 32% กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเกิดประโยชน์จากการสร้างคุณค่าให้กับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว อีกทั้งยังคงคุณภาพของผ้าห่มผืนเขียวนี้ให้มีความนุ่ม และอบอุ่นเหมือนเช่นเคย ตอกย้ำแนวคิด “BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING มากกว่าความอบอุ่น คือสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน”

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมอบโอกาสด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านกีฬา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น เช่น “น้องอาจัว” จากเด็กม้งที่เคยได้รับผ้าห่มจากโครงการรวมใจต้านภัยหนาวเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จนปัจจุบันก็ยังได้รับทุนการศึกษาจากไทยเบฟ โดยเข้ารับการศึกษาอยู่ในปีการศึกษาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลับมาร่วมฝึกงานกับไทยเบฟ เพื่อสานต่อการ “ให้” โดยร่วมลงพื้นที่แจกผ้าห่มช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนให้สัมผัสถึงกิจกรรมจิตอาสา เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้

ดังนั้น เมื่อคาราวานผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก เดินทางไปถึง พร้อมกับส่งมอบผ้าห่มถึงมือประชาชน รอยยิ้มและความสุขใจก็เกิดขึ้น เพราะมีสิ่งช่วยบรรเทาความหนาวเย็น

นอกจากรอยยิ้มบนใบหน้า…ประชาชนที่มารับมอบผ้าห่มต่างบอกว่า รู้สึกดีใจมากที่มีคนเดินทางมาหาถึงบ้าน พร้อมกับนำผ้าห่มกันหนาวมามอบให้ด้วย มันทำให้พวกเขารู้สึกมีขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้กับภัยหนาว รวมทั้งมีพลังใจที่จะดำรงชีวิตต่อไป เพราะรู้สึกว่ายังมีคนไทยด้วยกันห่วงใยพวกเขาอยู่

 “ดีใจที่มาหาถึงบ้าน” คือคำพูดที่ยังกังวานอยู่ในใจของคาราวานแห่งไออุ่นไม่รู้ลืม ขณะที่รอยยิ้มและความสุขของทุก ๆ คน ก็ส่งกลับมาเป็นพลังให้คาราวานกองนี้ มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไปในการสืบสานและส่งต่อการแบ่งปัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งการให้อย่างยั่งยืน