“หูฟัง” ขายดีถล่มทลาย Work from Home ดันยอดโต 124% ในปีเดียว

“การ์ทเนอร์” เปิดมูลค่าตลาดอุปกรณ์สำหรับสวมใส่ไฮเทคในปี 2563 ทั่วโลก พบเติบโตขึ้น 49.4% โดยแรงผลักดันการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดคืออุปกรณ์ “หูฟัง” ซึ่งมียอดขายทะยานถึง 124% ผลจากการหาซื้อหูฟังที่ดีขึ้นไว้ใช้เรียนหรือทำงาน Work from Home ด้านข้อมูล IDC เห็นชัดว่า AirPods จาก Apple ได้อานิสงส์จากกระแสนี้ไปเต็มๆ

การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและที่ปรึกษา เปิดเผยมูลค่าการใช้จ่ายไปกับ “อุปกรณ์สำหรับสวมใส่ไฮเทค” ปี 2563 ทั่วโลก โดยรวมมูลค่าสินค้า 6 ประเภท คือ สมาร์ทวอทช์, สายรัดข้อมือ, หูฟัง, จอแสดงผลสวมศีรษะ, เสื้อผ้าอัจฉริยะ และ สมาร์ทแพทช์ พบว่า ปีที่แล้วมียอดขายรวมกันกว่า 68,985 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 49.4% จากปี 2562

ตัวเลขของการ์ทเนอร์จะเห็นได้ว่า กลุ่มสินค้าที่ผลักดันการเติบโตคือ “หูฟัง” ซึ่งมียอดขายรวม 32,724 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 124% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยการเติบโตอย่างมหาศาลนี้ถูกระบุว่า เป็นเพราะพนักงานซึ่งทำงานจากบ้าน (Work from Home) ต้องซื้อหูฟังที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นในการประชุมออนไลน์ และผู้บริโภคทั่วไปเมื่ออยู่บ้านร่วมกับครอบครัวก็สนใจซื้อหูฟังมาใช้กับสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นด้วย

หูฟัง ประชุม
Work from Home ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องหา “หูฟัง” มาใช้งานในการประชุมออนไลน์สูงขึ้น

การเติบโตของยอดขายหูฟังทะลุทะลวงมากจนคิดเป็นสัดส่วน 47.4% และเป็นสินค้าอันดับ 1 ในกลุ่มอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค สลับกับปี 2562 ที่สินค้าอันดับ 1 ของกลุ่มนี้ยังเป็น “สมาร์ทวอทช์”

นอกจากแรงส่งจากโรคระบาดที่เปลี่ยนวิถีชีวิตแล้ว ก่อนหน้านี้ในปี 2562 บริษัทวิจัย International Data Corporation (IDC) ก็เคยคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่า “หูฟัง” จะเป็นสมรภูมิใหม่ของกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค เพราะเมื่อค่ายโทรศัพท์มือถือผลิตรุ่นที่ไม่มีช่องเสียบหูฟังกันมากขึ้นเรื่อยๆ การผลิตหูฟังไฮเทคมาชิงตลาดก็ยิ่งดุเดือด

 

Apple ผู้นำแห่งตลาดอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค

สำหรับแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาด ข้อมูลจาก IDC เมื่อไตรมาส 2 ปี 2563 ระบุว่า ไตรมาสดังกล่าว Apple คือผู้เล่นที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงที่สุด รวมทุกอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค โดย “แบรนด์ 5 อันดับแรกที่ขายดีที่สุดประจำไตรมาส” มีดังนี้

  1. Apple ยอดขาย 29.4 ล้านชิ้น มาร์เก็ตแชร์ 34.2%
  2. Huawei ยอดขาย 10.9 ล้านชิ้น มาร์เก็ตแชร์ 12.6%
  3. Xiaomi ยอดขาย 10.1 ล้านชิ้น มาร์เก็ตแชร์ 11.8%
  4. Samsung ยอดขาย 7.1 ล้านชิ้น มาร์เก็ตแชร์ 8.3%
  5. Fitbit ยอดขาย 2.5 ล้านชิ้น มาร์เก็ตแชร์ 2.9%

แน่นอนว่าสินค้าชูโรงของ Apple ย่อมเป็น AirPods และ Apple Watch นั่นเอง แต่จากอัตราการเติบโตของหูฟังทั้งตลาดในปีที่แล้ว เราคงจะพูดได้ว่าเป็น AirPods และหูฟัง Beats ที่ได้แรงหนุนมหาศาล

 

สมาร์ทวอทช์-สมาร์ทแพทช์ ขายดีขึ้น คนใส่ใจสุขภาพ

ตัวเลขของการ์ทเนอร์มีจุดน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างคือ “สมาร์ทวอทช์” และ “สายรัดข้อมือ” สินค้าที่ใช้ติดตามมอนิเตอร์สุขภาพ นับก้าวการเดิน การเต้นของหัวใจ ฯลฯ สองประเภทนี้รวมกันมีมูลค่าตลาด 26,745 ล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโตราว 17% จากปี 2562 การ์ทเนอร์ระบุว่า การเติบโตนี้เกิดจากความสนใจสุขภาพที่มากขึ้นของผู้บริโภค

ตัวอย่างสมาร์ทแพทช์จากบริษัท Epicore Biosystems พัฒนาขึ้นเพื่อวัดปริมาณเหงื่อในนักกีฬา (Photo : Dailymail UK)

นอกจากกลุ่มสมาร์ทวอทช์แล้ว ปีที่แล้วการ์ทเนอร์ยังเพิ่มหมวดสินค้าใหม่คือ “สมาร์ทแพทช์” หรือ แผ่นแปะอัจฉริยะ เข้ามาด้วย โดยสินค้าตัวนี้เป็นเซ็นเซอร์เช็กสุขภาพในด้านต่างๆ นำมาติดบนผิวหนังโดยตรง ทำให้ตรวจวัดได้แม่นกว่าอุปกรณ์สวมใส่อื่นๆ สมาร์ทแพทช์สามารถเช็กได้ทั้งอุณหภูมิร่างกาย การเต้นของหัวใจ น้ำตาลในเลือด ฯลฯ และสามารถสั่งการระยะไกลเพื่อให้ยาอัตโนมัติแก่ผู้ป่วยได้ด้วย เช่น ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับอินซูลินได้ทันที

การ์ทเนอร์รายงานว่า สมาร์ทแพทช์มีการคิดค้นขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่นำมาใช้ได้ช้าเพราะติดข้อกำหนดกฎระเบียบด้านการแพทย์ และพบการต่อต้านของผู้ป่วยด้วย แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การให้บริการด้านสุขภาพอัตโนมัติจะเป็นที่คุ้นเคยขึ้น และทำให้สมาร์ทแพทช์เป็นที่ต้องการสูงขึ้น

 

ปี 2564 ตลาดอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทคยังโตต่อ

สำหรับปี 2564 การ์ทเนอร์ประเมินว่าตลาดอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทคจะยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยเดิมคือ การทำงานระยะไกลกับการรักษาสุขภาพ และคาดว่าจะทำให้ตลาดเติบโตขึ้น 18.1% เป็นมูลค่า 81,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

“หูฟัง” ก็ยังเป็นสินค้าขายดีต่อเนื่องแม้จะชะลอความร้อนแรง โดยคาดว่าจะมียอดขาย 39,220 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้น 20% รวมถึงกลุ่ม “สมาร์ทวอทช์-สายรัดข้อมือ” คาดว่ามียอดขายรวมกัน 30,733 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้นราว 15% ขณะที่กลุ่ม “สมาร์ทแพทช์” ที่เป็นสินค้ากลุ่มใหม่มาแรง คาดว่าจะมียอดขาย 5,963 ล้านเหรียญ หรือโตขึ้นราว 27%

น่าสนใจว่าการแข่งขันของปีนี้จะเป็นอย่างไรต่อ เพราะ IDC เคยระบุไว้ตั้งแต่ปี 2562 ว่ากลุ่มหูฟังนั้นเป็นสมรภูมิ นอกจากผู้เล่นหลักที่เอ่ยชื่อไปข้างต้น จะมีทั้งผู้เล่นหน้าเก่าที่ผลิตหูฟังพรีเมียมอย่าง Sony, Bose, Jabra หรือผู้เล่นใหม่ที่มาจากค่ายเทคฯ อื่นๆ เช่น Amazon, Android, Microsoft, Google ก็กระโดดมาร่วมวงผลิตหูฟังด้วย

Source: Gartner, BusinessWire, ZD.net