Fair Finance Thailand ประกาศผลธนาคารที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุดปี 2563 แชมป์เก่า “TMB” ยังครองแชมป์ต่ออีกสมัย ด้านธนาคาร “กรุงไทย” ก้าวกระโดดขึ้นสู่อันดับ 2 ไฮไลต์การพัฒนาความรับผิดชอบสังคมปีนี้ มีตั้งแต่นโยบายต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ จนถึงการไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชีพื้นฐาน
Fair Finance Thailand จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้วในประเทศไทย โดยการประเมินนี้เป็นเครือข่ายและใช้ดัชนีชี้วัดจาก Fair Finance International (FFI) ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันมีทั้งหมด
11 ประเทศที่นำดัชนีนี้มาใช้ชี้วัดการทำงานที่รับผิดชอบสังคมของธนาคาร ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม
สำหรับ Fair Finance Thailand มีองค์กรที่มีส่วนร่วมในการประเมินทั้งหมด 5 แห่ง คือ ป่าสาละ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ International Rivers โดยการเปิดรายชื่ออันดับปีนี้นำโดย “สฤณี อาชวานันทกุล” หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand เป็นผู้รายงาน
การวัดผลความเป็นธรรมและรับผิดชอบ มีดัชนีชี้วัด 3 หมวด 13 หัวข้อหลัก ซึ่งจะแตกออกเป็นมากกว่า 200 หัวข้อย่อย หัวข้อหลักที่วัดผล เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ผลกระทบต่อสุขภาพ (ซึ่งเป็นหัวข้อใหม่), สิทธิแรงงาน, ความเท่าเทียมทางเพศ, การคุ้มครองผู้บริโภค, ความโปร่งใสและความรับผิด เป็นต้น การวัดผลทั้งหมดจะมาจากการตรวจสอบนโยบายที่ประกาศเป็นสาธารณะเท่านั้น เช่น รายงานประจำปี ข้อมูลบนเว็บไซต์
ปี 2563 มีธนาคารที่ได้รับการประเมินทั้งหมด 12 แห่ง ไล่เรียงตามขนาดสินทรัพย์ ดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารออมสิน (GSB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารทีเอ็มบี (TMB), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)
ทั้งนี้ ธนาคารที่ออกจากรายชื่อการประเมินปีนี้คือธนาคารธนชาตเนื่องจากได้ควบรวมกับ TMB แล้ว และธนาคาร 4 แห่งที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะจัดอันดับแยกออกไป เนื่องจากภารกิจบางอย่างไม่สอดคล้องกับดัชนีชี้วัด ได้แก่ ธ.ออมสิน ธกส. ธอส. และ SME Bank
ผลสรุป อันดับธนาคารพาณิชย์ใน Fair Finance Thailand 2563 เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคมสูงสุด ได้แก่
1) ทีเอ็มบี คะแนน 38.9% (เพิ่มขึ้น +72%)
2) กรุงไทย คะแนน 22.4% (เพิ่มขึ้น +43%)
3) กรุงเทพ คะแนน 21.8% (เพิ่มขึ้น +28%)
4) ไทยพาณิชย์ คะแนน 21.2% (เพิ่มขึ้น +4%)
5) กสิกรไทย คะแนน 20.6% (ลดลง -0.5%)
6) กรุงศรีอยุธยา คะแนน 16.9% (ลดลง -1.9%)
7) เกียรตินาคินภัทร คะแนน 16.1% (เพิ่มขึ้น +0.5%)
8) ทิสโก้ คะแนน 15.9% (ลดลง -0.9%)
ผลสรุป อันดับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐใน Fair Finance Thailand 2563 เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคมสูงสุด ได้แก่
1) ธกส. คะแนน 22.1%
2) ออมสิน คะแนน 15.4%
3) ธอส. คะแนน 11.0%
4) SME Bank คะแนน 9.0%
สฤณีกล่าวว่า ปี 2563 ธนาคารทีเอ็มบียังคงครองแชมป์ และพัฒนาขึ้นสูงมาก มีหลายดัชนีชี้วัดที่ทีเอ็มบีเป็นธนาคารเดียวในไทยที่มีนโยบาย ส่วนธนาคารกรุงไทยมีการพัฒนาที่สูงไม่แพ้กัน โดยปรับตัวขึ้นจากอันดับ 7 เมื่อปีก่อนมาเป็นอันดับ 2 ในปีนี้
“ภาพรวมค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ที่ 21.7% ซึ่งพัฒนาขึ้นไวมาก จากเมื่อสองปีก่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 12% เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าเกิดบรรยากาศการแข่งขันที่ดีในหมู่ธนาคารที่จะมีความรับผิดชอบสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 5 อันดับแรก” สฤณีกล่าว
- แม็คโคร-ท็อปส์-ซีพี เฟรชมาร์ท คว้าตำแหน่ง “ซูเปอร์มาร์เก็ต” รับผิดชอบสังคมสูงสุด
- เริ่มแล้ว! Tiffany ระบุแหล่งที่มาเพชรทุกเม็ด หลีกเลี่ยงมีส่วนในอาชญากรรม “เพชรสีเลือด”
สำหรับหัวข้อที่ธนาคารไทยให้ความใส่ใจสูงสุด คือ “การคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งทุกธนาคารจะมีนโยบายเกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ ในทางกลับกัน หัวข้อที่ธนาคารไทยยังมีนโยบายน้อยคือ “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีเอ็มบีได้คะแนนสูง เพราะเป็นธนาคารที่มีนโยบายในด้านนี้มากกว่าธนาคารอื่นอย่างเห็นได้ชัด
ไฮไลต์ “นโยบายเพื่อสังคม” ที่โดดเด่นของธนาคารชั้นนำ
สฤณียังนำเสนอไฮไลต์ตัวอย่างนโยบายเพื่อสังคมเด่นๆ ของกลุ่มธนาคาร 5 อันดับแรกที่น่าสนใจ ดังนี้
1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – จัดรายการธุรกิจ “เหมืองถ่านหิน” หรือ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB
2) การต่อต้านการทุจริต – ประกาศไม่ทำกิจกรรมใดๆ กับล็อบบี้ยิสต์ –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB, KTB, SCB
3) ความเท่าเทียมทางเพศ – กำหนดเป้าหมายรักษาสัดส่วนผู้บริหาร “หญิง” ไม่น้อยกว่า 40% ของตำแหน่งผู้บริหารทั้งหมด –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB
4) การขยายบริการทางการเงิน – มีบัญชีเงินฝากพื้นฐานที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชี –> ธนาคารที่มีนโยบาย : KTB, KBANK
5) นโยบายค่าตอบแทน – การจ่ายค่าตอบแทนโบนัสกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานตั้งอยู่บนเกณฑ์อื่นนอกเหนือจากธุรกิจด้วย เช่น ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ผู้บริหาร/พนักงานนำกลยุทธ์ความยั่งยืนต่างๆ ไปใช้จริง) –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB,KTB, SCB, KBANK
“แชมป์” TMB มีนโยบายจัดลิสต์ธุรกิจที่ “ไม่ปล่อยกู้”
สำหรับบริษัทที่ได้อันดับ 1 อีกครั้งในปีนี้ มีนโยบายที่น่าสนใจและแตกต่างจากธนาคารอื่น คือการจัดทำ “รายการธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน” (exclusion list) ด้วย โดยรายการธุรกิจเหล่านี้ถูกแบนด้วยเหตุผลด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม
ต่อประเด็นนี้ “นริศ อารักษ์สกุลวงศ์” หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีเอ็มบีจัดทำนโยบายนี้ โดยอ้างอิงกรอบการทำงานมาจาก ING ธนาคารที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในทีเอ็มบี แบ่งลิสต์ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
“รายการธุรกิจที่ไม่สนับสนุนทางการเงิน”
1) การพนัน
2) ภาพอนาจาร
3) ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับสวัสดิภาพสัตว์
4) อาวุธที่เป็นประเด็นในสังคม (เช่น โดรนโจมตีอัตโนมัติ)
5) พลังงาน
6) การประมง
7) ป่าไม้
8) พันธุวิศวกรรม
9) แร่ธาตุ
10) เหมืองถ่านหิน
11) พื้นที่หวงห้าม
“รายการธุรกิจที่จะพิจารณาอย่างเข้มงวด”
1) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2) อาวุธ เครื่องมือป้องกันตัว
3) พลังงาน เคมีภัณฑ์ ทรัพยากรธรรมชาติ
4) แร่กัมมันตรังสี
5) ยาสูบ
นริศกล่าวว่า ลิสต์เหล่านี้จัดทำขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า ธุรกิจที่ธนาคารสนับสนุนด้วยการให้สินเชื่อจะตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนในภาพใหญ่ที่ธนาคารวางแนวทางไว้ นอกจากกรอบคิดจาก ING แล้ว ในประเทศไทยเอง ทีเอ็มบีก็กำลังพยายามมองโจทย์ของประเทศด้วย เช่น ขณะนี้ทีเอ็มบีกำลังมุ่งเน้นหารือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ไร่อ้อย” เพื่อหาความร่วมมือสนับสนุนให้ธุรกิจมีการเผาไร่อ้อยลดลง เพื่อร่วมแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเผาไร่ทางการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของ PM 2.5
การจัดอันดับตามดัชนีชี้วัดของ Fair Finance Thailand ทำให้เห็นว่า “ธนาคาร” สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งการทำงานทางตรงภายในธนาคารเอง และในฐานะที่เป็นแหล่งทุนในการทำธุรกิจ