ลูกค้าพม่ามาแว้ว

แรงงานชาวพม่า ไม่ใช่ลูกค้าที่แบรนด์ไหนจะมองข้ามได้ ดูอย่าง เคแบงก์ เห็โอกาสทางธุรกิจจากแรงงานพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร ว่ากันว่าจังหวัดนี้จังหวัดเดียวมีจำนวนนับแสนคน เนื่องจากธุรกิจหลักของจังหวัดนี้คือการประมงหาปลา จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

แทนที่จะมีตู้เอทีเอ็มที่ใช้ภาษาไทยเหมือนปกติ เคแบงก์เลยมีบริการภาษาพม่าควบคู่กับภาษาไทย ตู้เอทีเอ็มของแบงก์นี้ได้รับความนิยมจากแรงงานพม่ามายืนต่อแถวใช้บริการ จนกลายเป็นข่าวขึ้นหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

แม้เนื้อข่าวจะต้องการสะท้อนว่า แรงงานพม่านับแสนคนทะลักเข้าไทย แต่หากมองอีกด้าน จะเห็นได้ถึงการปรับตัวของแบงก์กสิกรไทยให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า

ค่ายมือถืออย่างดีแทค ก็มองเห็นโอกาสงามนี้ไม่ต่างกัน ดีแทคลงมือพิมพ์โบรชัวร์โฆษณาเป็นภาษาพม่า แจกจ่ายตามแหล่งอาศัยชาวพม่า ในสมุทรสาคร แม่สาย จังหวัดตาก

“พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคนพม่าไม่ต่างไปจากลูกค้าทั่วไป ใช้ซิมพรีเพดใช้งาน และมักจะซื้อซิมที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น คนพม่าเขาพูดและฟังภาษาไทยรู้เรื่อง แต่มีข้อจำกัดในเรื่องอ่านภาษาไทยไม่ออก ดังนั้นสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกได้คือ ภาษาพม่า บอกรายละเอียดโปรโมชั่นต่างๆ” ดร.เกษชญงบอก

แม้พฤติกรรมการใช้ของชาวพม่าจะไม่เด่นชัด แต่ด้วยตัวเลขของชาวพม่าในไทย ที่ประเมินว่าน่าจะมีหลายล้านคน ตลาดชาวพม่าถือเป็น “ไมโครเซ็กเมนต์” หรือลูกค้ากลุ่มย่อยที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากโบรชัวร์โฆษณาภาษาพม่าแล้ว ดีแทคจึงต้องมีบริการ Call Center ภาษาพม่า ด้วยเลขหมายเฉพาะไว้รองรับ รวมถึงบริการดาวน์โหลดริงโทน ฟูลซองดาวน์โหลดเพลงพม่าให้ชาวพม่าได้บันเทิงใจไม่แพ้คนชาติอื่น

แม้ว่าจะประเมินมูลค่าได้ยาก แต่มองจากใกล้ๆ ตัวแล้ว ก็คาดเดาไม่ยากว่า ชาวพม่าเป็นไมโครเซ็กเมนต์
เช่นเดียวกับค่ายเอไอเอส ก็มองโอกาสทองนี้ไม่ต่างกัน ค่ายนี้จึงมีทั้งโบรชัวร์ บริการ Call Center ภาษาพม่า รวมถึงบริการดาวน์โหลดเพลง ทั้งริงโทน และฟูลซองให้ลูกค้าชาวพม่าในระบบพรีเพดวันทูคอลได้ใช้บริการไม่แพ้ค่ายดีแทค และในอนาคตอาจมีบริการค่าโทรระหว่างประเทศในอัตราพิเศษ เพราะพบว่า พฤติกรรมการชาวพม่านิยมโทรหาเพื่อนฝูงในไทยแล้วยังนิยมโทรกลับบ้าน

งานนี้เข้าตำรา ลูกค้าอยู่ที่ไหน ต้องไปเสิร์ฟให้ถึงที่ แล้วอย่างนี้ลูกค้าจะหนีไปไหน