สรุป 5 ข้อจาก SCB EIC “ส่งออกไทย” สิ้นปี 2563 และคาดการณ์ปี 2564 หลังการระบาดรอบใหม่

ภาคการส่งออกไทยปี 2563 เผชิญวิกฤต COVID-19 รวมทั้งปีหดตัว -6.0% โดยปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมก่อนจะเผชิญผลกระทบของการระบาดรอบใหม่ ทำให้ SCB EIC ปรับการคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2564 เติบโตเพียง +4.0% จากเดิมเคยประเมินว่าจะโต +4.7% อ่านสรุป 5 ข้อสรุปส่งออกไทยปี 2563 และประเมินส่งออกไทยปีนี้ที่นี่
1) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวภาคส่งออกปี 2564 เป็น +4.0% (จากเดิม +4.7%)

ปี 2563 ภาคการส่งออกติดลบ -6.0% (รวมการส่งออกทองคำและอาวุธ) โดยเดือนธันวาคม 2563 ฟื้นตัวดี +4.7% YoY แต่เกิดการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ในช่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ จะมีผลกระทบระยะสั้นต่อการส่งออก ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ทำให้ SCB EIC ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวลดลงเหลือโต +4.0% (จากเดิมคาดการณ์ +4.7%)

“ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น”

  • เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ทั่วโลก
  • ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
  • เงินบาทแข็งค่า กระทบสินค้าเกษตรเป็นหลัก
  • การระบาดของ COVID-19 ในไทยส่งผลต่อการส่งออกอาหารทะเล และการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ
2) สินค้าส่งออกเด่น : สินค้าที่เกี่ยวกับ Work from Home หรือสุขอนามัย

สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานจากบ้านอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เติบโตต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม’63 และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อในปีนี้ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ +15.5% YoY, เครื่องซักผ้า +10.2% YoY, เครื่องปรับอากาศ +8.4% YoY, โทรศัพท์ โทรสาร และอุปกรณ์ +33.9% YoY, อาหารสัตว์เลี้ยง +25.7% YoY

สินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัยก็เติบโตเช่นกัน โดยเฉพาะ “ถุงมือยาง” ที่โตถึง +220.3% YoY ส่วนเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์โต +18.3% YoY

3) สินค้าส่งออกหดตัว : อุตสาหกรรมเกษตรและน้ำมันสำเร็จรูป

ในทางกลับกัน สินค้าที่ยังหดตัวเมื่อเดือนธันวาคม’63 ได้แก่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งหมวดติดลบ -7.5% YoY กลุ่มที่หดตัวมากคือ “น้ำตาลทราย” -75.4% YoY และเครื่องดื่ม -11.5% YoY รวมถึงการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัว -16.6% YoY

4) ตลาดโตแรงที่สุด : สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย

การส่งออกเดือนธันวาคม’63 พบสัญญาณตลาดสำคัญกลับมาเติบโตแรงทั้งหมด ยกเว้นยุโรปที่ยังติดลบ -2.4% YoY ประเทศกลุ่ม CLMV ติดลบ -6.3% YoY และประเทศกลุ่มอาเซียน 5 ยังโตไม่มาก +0.8% YoY ส่วนประเทศที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่

  • สหรัฐฯ +15.7% YoY จากการส่งออกคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์
  • ออสเตรเลีย +15.3% YoY จากการส่งออกรถยนต์ อัญมณี เครื่องปรับอากาศ
  • ญี่ปุ่น +14.8% YoY จากการส่งออกรถยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร
  • อินเดีย +14.5% YoY จากการส่งออกรถยนต์และเคมีภัณฑ์
  • จีน +7.2% YoY จากการส่งออกคอมพิวเตอร์ ผลไม้สด-แห้ง มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์

5) จับตา “ยางล้อรถยนต์” ตัดสินผลการทุ่มตลาดกลางปีนี้

ผลิตภัณฑ์สำคัญอย่าง “ยางล้อรถยนต์” ของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ระหว่างนี้จะถูกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดในอัตรา 13.25-22.21% ไปก่อน ระหว่างรอผลการไต่สวนการทุ่มตลาดชั้นที่สุดช่วงกลางปี อัตราภาษีที่ถูกเก็บจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ SCB EIC มองว่ายังแข่งขันได้กับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ที่จะถูกเก็บภาษีสูงกว่า คือ เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ส่วนผู้ส่งออกเวียดนามต้องจับตาว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม