กรอบความคิดกับความมั่งคั่ง…

Photo : Shutterstock

ถ้ามองไปรอบตัว ผมเชื่อว่าเราทุกคนน่าจะมีคนรู้จักบางคนที่ทำงานมาทั้งชีวิต ซื่อสัตย์ สุจริต มัธยัสถ์อดออม แต่จนกระทั่งถึงตอนเกษียณ หรือเสียชีวิต บุคคลเหล่านี้ก็ยังหลีกหนีความจนหรือการเป็นคนชนชั้นกลางทั่วๆ ไปไม่พ้น จริงอยู่คนเราเกิดมาต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่เหตุใดในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม

ซึ่งเน้นย้ำว่าทุกคนสามารถเลื่อนสถานะทางสังคมขึ้น หรือลงได้ตามความพยายาม หรือความสามารถของตัวเองนั้น เหตุใดในคน หรือในครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่ละรุ่นของครอบครัวเหล่านี้จึงมักจะมีฐานะยากจนเช่นเดียวกันคนที่อยู่ในฐานะปานกลาง รุ่นต่อไปก็มักจะอยู่ในฐานะปานกลาง เพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

แน่นอนครับ เราสามารถถกเถียงปัญหานี้กันได้ในหลากหลายแง่มุม เอาตรงๆ มันคงไม่ได้มีคำตอบสูตรสำเร็จ แต่มุมหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงในวันนี้คือการที่ ครอบครัว สังคม ระบบการเรียนการสอน รูปแบบเศรษฐกิจ และการจัดการของรัฐบาล ได้สร้างกรอบความคิดที่ส่งผลและเอื้อให้สภาพสังคมเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่ากลัวคือถึงแม้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของเราทุกคน คนจำนวนมากกลับไม่ตระหนักหรือคำนึงถึงความเป็นจริงและปัญหานี้เลย

Photo : Freepik

หากเรามองเด็กคนหนึ่งที่ลืมตาเกิดขึ้นมาบนโลกนี้ สถาบันแรกที่จะให้การสั่งสอนกับเด็กคนนี้ก็คือ พ่อ แม่ และครอบครัว ซึ่งหากดูภาพรวมโดยเฉลี่ยแล้วในสังคมแต่ละชนชั้น ก็มักจะมีลักษะกรอบความคิดที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันโดยกรอบความคิดนี้มักจะถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ผ่านการสั่งสอนจากปู่ย่าตายาย มาถึงรุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกเด็กคนนี้เองก็จะได้รับการปลูกฝังและซึมซับกรอบความคิดนี้ไปโดยไม่รู้ตัว

ในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างลำบาก หากเรามองภาพรวมเราจะพบว่า แนวความคิดที่แพร่หลายในสังคนกลุ่มนี้คือการหาเงินให้พอใช้ต่อวันต่อเดือน และถ้าหากไม่พอใช้ก็สามารถกู้หนี้ยืมสินมาก่อนได้ การวางแผนชีวิต การเงิน การสร้างครอบครัว หรือกระทั่งการมีลูก มักจะถูกมองในระยะสั้นหรือปานกลาง การลงทุนที่ถูกต้อง หรือหลักการการทวีคูณของเงิน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกพูดถึงหรืออาจจะไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับประชากรกลุ่มนี้เลย

ในกลุ่มสังคมชนชั้นกลาง คำสอนและแนวคิดที่แพร่หลาย คือการให้ตั้งใจเรียน เรียนจบให้หางานที่ดี ตั้งใจทำงาน  ตั้งใจเก็บเงิน คนในกลุ่มนี้มักจะเชื่อในความพยายาม ความขยันหมั่นเพียรและอดออม และเป็นกลุ่มคนที่มีความสบายใจในสิ่งที่ตัวเองรู้ ทำให้คนกลุ่มนี้มักไม่ค่อยสบายใจกับสิ่งที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่ถนัด

ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงทางด้านการลงทุน ถึงแม้จะพอมีความรู้อยู่บ้างก็ตามโดยหากคนกลุ่มนี้มีลูกเดินไปในเส้นทางที่ตัวเองไม่คุ้นชิน ความอึดอัด และความไม่สบายใจ หรือหลายครั้งความพยายามที่จะห้ามลูกไม่ให้เดินไปยังเส้นทางที่ตัวเองไม่คุ้นเคยก็จะเกิดขึ้นทันที

แน่นอนว่ากรอบความคิดนี้จะถูกถ่ายทอด สอนสั่ง จากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัวนั้นๆ ทำให้แนวความคิดของเด็กทุกคนได้ถูกวาดกรอบมาตั้งแต่ในวัยเยาว์โดยที่เด็กเหล่านี้ไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป เมื่อถึงวัยเข้าเรียนครอบครัวในแต่ละฐานะทางสังคม ก็มีแนวโน้มที่จะส่งบุตรหลานของตนไปยังโรงเรียนที่ตัวเองมีกำลังทรัพย์พอจะส่งไหว ทำให้ความคิดที่ถูกวาดกรอบมาแล้วจากครอบครัว ยิ่งถูกตอกย้ำให้แน่นขึ้นจากความรู้สึกที่ว่าเพื่อนตัวเองในสังคมก็คิดและมีมุมมองที่คล้ายคลึงกัน

Photo : Freepik

หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนและมหาลัยเอง ก็มักจะเน้นสอนทางวิชาการ ต้องการให้เด็กเก่งทางด้านเลข ภาษา วิทยาศาสตร์หรือวิชาเฉพาะด้าน อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนที่เกี่ยวกับ วินัยด้านการเงินการวางแผนทางการเงิน การวางแผนทางด้านภาษีหรือการลงทุน แทบไม่เคยมีอยู่ในหลักสูตรที่นักเรียนไทยต้องเรียน หรือสอบเลย

แนวความคิดและความเชื่อที่ได้จากการเข้าสู่ระบบการศึกษา คือการสั่งสอนและตอกย้ำให้เด็กตั้งใจเรียน ต้องเรียนให้ได้เกรดดีๆ เพื่อที่จะได้เข้ามหาลัยดีๆ และสามารถหางานที่มีเงินเดือนดีๆ ได้ โดยไม่มีการสอนและพูดถึงหลักการบริหารเงินเมื่อเด็กเริ่มมีรายได้แล้ว

เมื่อเข้าสู่วัยทำงานซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้ จากสถานะนักเรียน-นักศึกษา เด็กเหล่านี้จะเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นผู้บริโภค แบรนด์ ห้างร้าน สินค้าและบริการต่างๆ จะใช้ทุกกลยุทธ์เพื่อทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกว่า “ของมันต้องมี” ธนาคารจะเริ่มเข้ามานำเสนอบัตรเครดิต

ซึ่งจำนวนเงินเดือนที่สามารถยื่นขอบัตรเครดิตได้ก็ดูจะต่ำลงมาเรื่อยๆ แน่นอนโปรโมชันลด แลก แจกแถม หรือการผ่อน 0% รวมถึงบริษัทสินเชื่อที่พร้อมทำให้เรื่องกู้ยืมง่ายเหมือนการเดินไปเข้าห้องน้ำ ก็ยิ่งทำให้คนทั่วไปตกอยู่ในวงเวียนและไม่สามารถหลีกหนีจากวงจรนี้ได้

Photo : Freepik

รัฐบาลเองซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องพัฒนา ‘คุณภาพ’ ของคนในชาติตัวเอง ก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นหรือมองข้ามปัญหานี้ นอกจากไม่มีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมที่ดี และมีประสิทธิภาพเพื่อให้คนในประเทศตัวเองสามารถแข่งขันกับตลาดโลก และมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว

ในด้านความรู้การบริหารเงินเพื่อที่จะให้คนไทยรู้จักการเก็บเงิน ลงทุน และบริหารสินทรัพย์เพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง หรือกระทั่งการวางแผนภาษีที่คนไทยทุกคนมีภาระหน้าที่ต้องจ่าย รัฐก็แทบไม่มีการจัดอบรมหรือการศึกษาอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยในด้านนี้เลย ทำให้เราสามารถเห็นคนวัยทำงานที่มีอายุงานเกินสิบปีจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักวิธีการวางแผนภาษี และการลงทุนที่ถูกต้อง

สิ่งที่รัฐบาลทำโดยมากกลับเป็นการแจกเงิน ลดดอกเบี้ย และลดเกณฑ์การกู้เงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งนโยบายลักษณะนี้แม้จะช่วยให้คนที่เดือดร้อนได้รับการบรรเทา ณ ขณะนั้น แต่ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่รังแต่จะทำให้ปัญหานี้หนักหน่วงขึ้นในอนาคค

หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขี้นมากเป็นประวัติการณ์ก็เป็นดัชนีชี้วัดที่ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหานี้ รัฐบาลซึ่งเป็นสถาบันสำคัญที่ควรจะมองภาพและวางแผนในระยะยาว เหตุใดจึงมักเลือกทำและออกนโยบายที่แก้ปัญหาได้เพียงระยะสั้นอยู่เสมอ

Photo : Freepik

บางทีการพูดว่าจะรวยจะจนก็อยู่ที่ตัวทำ อาจจะไม่เป็นธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์สมอไป เพราะการต่อต้านหรือก้าวข้ามแนวความคิดที่ถูกตีกรอบมาตั้งแต่เด็ก การตอกย้ำเมื่อเข้าสู่สังคมเพื่อน การศึกษาที่ไม่เคยพยายามสอนและเปลี่ยนความคิด ระบบเศรษฐกิจที่ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการเป็นหนี้ และรัฐบาลที่มองข้ามและไม่พยายามแก้ปัญหา

ทั้งหมดนี้ได้ก่อตัวเป็นกรอบทางความคิดที่แม้จะไร้สภาพ แต่ก็มีพลังและแรงกดดดันมหาศาลซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะสามารถเอาชนะมันได้ ทั้งหลายทั้งปวงที่พูดมานี้ บางท่านอาจรู้สึกว่าอย่าตีโพยตีพายโทษอย่างอื่นเลย มันก็อยู่ที่ตัวเอง

จริงครับ อย่างที่เราพูดกันว่า ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดคือตัวเราเอง “Your worst enemy is yourself” แค่บางทีการจะชนะตัวเองเราก็แค่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกบ้างก็เท่านั้นเอง