อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรกว่า 250 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเพิ่งได้เปิดตัวโครงการฉีดวัคซีน COVID-19 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในการฉีดวัคซีนที่พัฒนาโดย ‘Sinovac Biotech’ ของจีน
นางศรี มุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย กล่าวว่า การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญแสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียต้องใช้เวลาประมาณ 15 เดือน ในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรประมาณ 180 ล้านคน เพื่อให้มี ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากพอมีภูมิคุ้มกันพอที่จะพัฒนาการป้องกันโรคเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดได้ง่ายอีกต่อไป และเพื่อให้ประชาชนมีภูมิต้านทานต่อโรค COVID-19 มากพอ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ
“เราเห็นว่าการระบาดของโรคไม่ได้ลดลงและเราต้องเฝ้าระวังต่อไป”
ศรี มุลยานี กล่าวต่อว่า อินโดนีเซียจะให้ความสำคัญกับการซื้อวัคซีน รวมทั้งการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณของ GDP ที่ 5.7% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วที่ขาดดุลงบประมาณที่ 6.1% ของ GDP
“ประเทศอินโดนีเซียยังถือว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคไม่หนักหนานักเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคและในกลุ่มเศรษฐกิจ G-20 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวประมาณ 2.2% ในปี 2020 ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาเติบโตราว 5% ในปีนี้”
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ต้องการ ‘เร่ง’ กระบวนการดังกล่าวเพื่อให้ได้มาซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่ภายใน 12 เดือนซึ่งเป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก เพราะจากภูมิประเทศอินโดนีเซียที่เป็นหมู่เกาะที่มีประชากรประมาณ 250 ล้านคนกระจายตัวกันหลายพันเกาะ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ถือเป็น 2 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ COVIID-19 มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ โดยอินโดนีเซียมีรายงานการติดเชื้อสะสมมากกว่า 989,200 รายและเสียชีวิตกว่า 27,800 ราย ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยมากกว่า 513,600 รายและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,200 ราย