จับตาสงคราม ‘สตรีมมิ่งจีน’ ของยักษ์ใหญ่ iQIYI กับ WeTV ที่ย้ายสมรภูมิรบมาไทย

หากพูดถึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งในไทยเราอาจจะคุ้นกับแพลตฟอร์มยักษ์จากฝั่งตะวันตกอย่าง ‘Netflix’ เสียมากกว่า แม้ว่าช่วง 2-3 ปีหลังจะมีผู้เล่นมากหน้าหลายตาขึ้นก็ตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘WeTV’ (วีทีวี) ที่มี Backup เป็น ‘Tencent’ เทคคอมปานียักษ์ใหญ่ของจีนที่ให้บริการในไทยเมื่อปี 2019

และในปี 2020 ที่ผ่านมา ‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ที่ได้ฉายาว่า ‘Netflix เมืองจีน’ ก็เหยียบเท้าเข้ามาในไทยอีกราย โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งคู่มี Position เดียวกันคือ เน้นคอนเทนต์เอเชียน ดังนั้น นี่จึงเป็นศึกที่น่าจับตาอีกศึกในตลาดสตรีมมิ่งไทย

สงครามเดิมแต่ย้ายสมรภูมิ

สำหรับตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยจะมีภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2020 เพราะการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม แต่จริง ๆ ตลาดสตรีมมิ่งไทยมีมานานมากแล้ว เช่นเดียวกับประเทศจีนที่เกิดสงครามสตรีมมิ่งมาแล้วกว่า 10 ปี โดยผู้เล่น 3 เจ้าใหญ่ ได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent โดย Baidu ก็คือเจ้าของ ‘iQIYI’ ทาง Tencent ก็มี ‘Tencent Video’ ส่วน Alibaba มี ‘Youku’ ที่เสมือน YouTube เมืองจีน โดยเป็นผู้เล่นรายเดียวที่ยังไม่เข้ามาไทย

ทั้ง 3 บริษัทต่างก็ทำสงครามกันมานาน ต่างคนต่างก็ทุ่มให้กับการทำ ‘ออริจินัลคอนเทนต์’ ของตัวเองเพื่อดึงดูดผู้ชมให้ได้มากที่สุด โดย iQIYI เป็นเบอร์ 1 ในตลาดจีน มีผู้ชมต่อเดือนสูงกว่า 600 ล้านคน มีผู้ใช้งานแบบสมาชิกหรือ VIP ทะลุ 100 ล้านคน

ด้าน Tencent Video ก็ตามมาติด ๆ ด้วยผู้ใช้งานแอคทีฟ 550 ล้านรายต่อเดือน และในที่สุดสงครามดังกล่าวก็ลามมาถึงตลาดไทย โดยเริ่มจาก Tencent ที่เปิดตัว ‘WeTV’ ไปเมื่อปี 2019 ภายใต้บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีแบรนด์ในเครืออย่างเว็บไซต์ Sanook, JOOX มิวสิกสตรีมมิ่ง, เกม PUBG MOBILE ส่วน iQIYI เพิ่งขยับออกมาลุยตลาดต่างประเทศในปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย

ศึกชิงความแข็งแกร่ง ‘เอเชียนคอนเทนต์’

ด้วยความที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมีจำนวนมากทั้งผู้เล่นระดับโลกอย่าง Netflix, HBO Max, Amazon Prime Video ผู้เล่นโลคอล อาทิ AIS Play, True ID, Mono Max, Doonee เป็นต้น ซึ่งแต่ละเจ้าก็พยายามลงทุนทำซีรีส์ด้วยทุนสูงเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน

ส่วนรายเล็กที่ไม่มีเงินทุนก็ต้องมีคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มเพื่อสร้างความแตกต่าง เช่นเดียวกันกับ WeTV และ iQIYI ที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าคงจะไม่ไปแข่งที่คอนเทนต์ฝั่งตะวันตกที่ไม่ถนัด แต่จะขอโฟกัสไปที่คอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก เพื่อขอชิง ‘เวลา’ ของผู้บริโภคให้มาอยู่ที่แพลตฟอร์มของตัวเองบ้าง ดังนั้น ทั้งคู่จึงเป็นคู่แข่งหลักของกันและกันไปโดยปริยาย

โดยเมื่อเทียบกันแล้ว คอนเทนต์หลักของทั้ง WeTV และ iQIYI กว่า 50% จะเป็นคอนเทนต์ ‘จีน’ เหมือนกัน ส่วนอีก 50% ก็จะเป็นซีรีส์เกาหลี, การ์ตูนญี่ปุ่น จุดที่จะชิงชัยคงจะเป็น ‘คอนเทนต์แม่เหล็ก’ ของตัวเอง อย่างฝั่งของ WeTV ก็มี ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในไทย ส่วน iQIYI ก็มีออริจินัลวาไรตี้ขวัญใจวัยรุ่นทั่วโลกอย่าง Youth With You 3 ซีซั่นล่าสุดที่ได้ ลิซ่า BLACKPINK มารับหน้าที่เมนเทอร์ประจำรายการอีกครั้ง

ผู้ผลิตไทยได้ประโยชน์เต็ม

เพราะทั้งคู่ต่างต้องการเป็นเจ้าแห่งคอนเทนต์เอเชียน ดังนั้น การพยายามดึงคอนเทนต์จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาไว้บนแพลตฟอร์มจึงเป็นอีกสงครามนอกจากแค่แย่งลูกค้า ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทย โดยที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นความร่วมมือในการดึงลิขสิทธิ์ซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ มาลงในแต่ละแพลตฟอร์ม รวมถึงประกาศความร่วมมือกันผลิต ‘ออริจินัลคอนเทนต์’

อย่างที่ผ่านมา WeTV ก็จับกระแสซีรีส์วาย เดินหน้าสร้าง ‘ออริจินัล คอนเทนต์วาย’ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศไทย สร้างสรรค์คอนเทนต์ภายใต้โปรเจกต์ “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’” และนอกจากซีรีส์วายยังมีออริจินัลซีรีส์ ประเภทอื่น ๆ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ส่วน iQIYI ก็จะเน้นไปที่ ‘ซิทคอม’ โดยดึงเอา ‘เป็นต่อ’ ‘เสือ ชะนี เก้ง’ และ ‘3 หนุ่ม 3 มุม x2’ มาลงในแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งเตรียมจะปั้นออริจินัลซีรีส์ไทยในอนาคตด้วย และด้วยความที่แต่ละแพลตฟอร์มนั้นให้บริการในหลายประเทศ นี่ก็ถือเป็นอีกช่องทางการพาคอนเทนต์ไทย Go Inter ในตลาดโลกได้ด้วย

สงครามที่ไม่มีผู้ชนะขาด

ทั้ง 2 แพลตฟอร์มต่างงัดไม้เด็ดกันมาโกยผู้ใช้ ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ แต่โมเดลของทั้งคู่ยังเป็นแบบ ‘ฟรีเมียม’ โดยให้ดูฟรีได้ (แต่มีโฆษณา และอาจจะดูช้าหน่อย) โดยค่าบริการ VIP ของ WeTV อยู่ที่ 119 บาทต่อเดือน ราคาเดียวกันกับ iQIYI เลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครยอมใครจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แพลตฟอร์มระบุว่าไม่ได้โฟกัสว่าจะต้องมีผู้ใช้ VIP มากน้อยแค่ไหน (เพราะสามารถหารายได้จากโฆษณาได้อยู่ดี)

ดังนั้น เมื่อผู้เล่น 2 รายใหญ่พยายามจะขับเคี่ยวกันในตลาด ทั้ง 2 ต่างมีงบลงทุนมหาศาลการจะหาผู้ชนะขาดในตลาดนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะต่างคนต่างก็มีคอนเทนต์เรือธงที่ต่างกัน แถมผู้บริโภคก็สามารถเลือกที่จะดูทั้ง 2 แพลตฟอร์มได้เพราะดูฟรี

ดังนั้น ปัญหาน่าจะเกิดกับผู้เล่นหน้าใหม่หรือผู้เล่นหน้าเก่าที่จะเข้ามาในตลาด โดยเน้นที่เอเชียนคอนเทนต์มากกว่าอาจเผชิญกับความยากลำบากที่จะสอดแทรกสู้ในสงครามนี้