‘AIS’ ผนึก ‘MSIG’ สานต่อเทรนด์ประกัน ‘ออนดีมานด์’ ใช้ AI คำนวณเบี้ย ‘จ่ายเท่าที่ขับ’

ในปี 63 ที่ COVID-19 ระบาดหนัก ๆ จนประเทศไทยต้องล็อกดาวน์ หลายคนคงได้สัมผัสกับประสบการณ์การ Work from Home ไปหลายเดือน (หรืออาจจะนานกว่านั้น) จนเกิดเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคยุค New Normal ไปแล้ว เมื่อไม่ต้องเดินทางไปทำงานเหมือนเดิมหรือเดินทางน้อยลง การใช้รถก็น้อยลงตามไปด้วย

ด้วยเทรนด์ดังกล่าวทำให้ ‘MSIG’ ผนึกกำลังกับ ‘AIS Insurance Service’ ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดทำแผนประกันภัยรถยนต์ที่มีเบี้ยสมเหตุสมผล จ่ายเมื่อขับ ไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย รวมทั้งวัดจากพฤติกรรมการขับขี่ตามคอนเซ็ปต์ “ขับไม่เหมือนกัน ทำไมต้องจ่ายเท่ากัน”

จนเกิดเป็น “ประกันขับดี” ประกันภัยรถยนต์ที่ใช้ InsurTech เต็มรูปแบบซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ให้เข้าร่วมโครงการทดสอบที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox)

ต่างจากประกันปกติอย่างไร

ประกันขับดี เป็นการประกันภัยรถยนต์ที่มีการคำนวณเบี้ยประกันภัยจากพฤติกรรมการขับขี่โดยใช้นวัตกรรมจาก IoT จ่ายเมื่อขับ หากไม่ได้ขับก็ไม่ต้องจ่าย คิดค่าเบี้ยประกันตามพฤติกรรมการใช้งาน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Big Data โดยมีอุปกรณ์ MSIG Car Informatics หรือ OBD II (On-Board Diagnostic) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กใช้ติดรถ สามารถเก็บค่าตัวแปรและค่าพฤติกรรมการขับรถในเชิงลึก และละเอียดกว่า Telematics ที่เก็บเฉพาะค่าระยะทางหรือชั่วโมง โดยจะคำนวณเบี้ยประกันภัยผ่าน 5 ตัวแปร ได้แก่

  • ระยะทาง : คิดตามระยะทางที่ขับจริง ไม่ขับก็จะไม่คิดเบี้ยประกัน
  • ความเร็ว : คิดเป็นหลักกิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ระยะเวลาการขับขี่ : ยิ่งอยู่บนท้องถนนนานก็ยิ่งเสี่ยง
  • ช่วงเวลาการขับขี่ : แต่ละช่วงเวลาในการขับขี่มีความเสี่ยงต่างกัน การคำนวณจึงขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา
  • พื้นที่การขับขี่ : คิดเบี้ยต่างกันตามจังหวัดที่ขับ ซึ่งแบ่งเป็นจังหวัดเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยตามสถิติการเกิดอุบัติเหตุ

“สถิติการขับขี่ในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ผู้ขับขี่รถที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลยมีอยู่ถึง 60% กลายเป็นผู้ขับขี่ที่มีประวัติดี แต่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเท่า ๆ กับคนอื่น ๆ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิด ขับไม่เหมือนกัน ทำไมต้องจ่ายเท่ากัน” รัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าว

เหมาะกับใคร

ประกันขับดี เหมาะสำหรับผู้ขับรถที่ใช้รถน้อย หรือกลุ่มคนที่ใช้รถเป็นช่วงเวลา โดยกับผู้ขับขี่ที่ขับรถดี โดยประกันขับดี จะแบ่งค่าเบี้ยประกันออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นค่าเบี้ยประกันพื้นฐานที่ต้องชำระในขั้นตอนซื้อครั้งแรก โดยจะได้รับอุปกรณ์ (MSIG Car Informatics) จากบริษัทฯ เพื่อนำไปติดตั้งในรถยนต์

ส่วนที่สอง เมื่อติดตั้งอุปกรณ์กับตัวรถและทำการ Activate ในแอปพลิเคชัน “ประกันขับดี” หลังจากเริ่มใช้งาน จะมีการคำนวณเบี้ยประกันจากค่าชี้วัดต่าง ๆ ตามพฤติกรรมการขับขี่เป็นรายวัน โดยค่าเบี้ยจะถูกรวบรวมและตัดบัตรเครดิตที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้โดยอัตโนมัติเป็นรายเดือน โดยจะตัดบัญชีทุกวันที่ 6 ทุกเดือน

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนให้เลือกสองแบบ ได้แก่ ประกันรถยนต์ชั้น 1 เริ่มต้นที่ 6,499 บาท และประกันรถยนต์ 2+ ราคา 3,299 บาท โดยใช้กับทุกทุนประกันภัย และรถทุกรุ่น เบื้องต้น AIS Insurance Service และ MSIG ตั้งเป้ายอดกรมธรรม์ดังกล่าวในปีนี้เอาไว้ที่ 20,000 กรมธรรม์ คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกัน 160 ล้านบาท

ไม่ใช่เรื่องใหม่ เเต่เทรนด์กำลังมา

ย้อนไปปี 2562 เอไอเอส เองก็เคยได้เข้ามาในตลาดประกันภัยรถยนต์เเล้ว โดยได้นำโซลูชัน NB-IoT Motor Tracker เข้ามาเสริมขีดความสามารถให้กับธุรกิจประกันภัยรถยนต์ โดยร่วมกับบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) มาเสริมบริการประกันรถเปิด-ปิด ช่วยให้ลูกค้าจ่ายค่าเบี้ยประกันตามการใช้งานจริง (Pay As You Drive) ทำให้ลดค่าใช้จ่ายค่าเบี้ยประกันได้ถึง 40% นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ทำ ประกันรถเปิด-ปิด อย่าง TQM ก็เป็นหนึ่งในนั้น

จะเห็นว่าที่ประกันเปิด-ปิดหรือประกันที่จ่ายตามการใช้งานจริงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นวงกว้างนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเหมือนตอนที่เกิดการระบาดของ COVID-19 และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ราคาถูกลง จึงทำให้บริษัทประกันเริ่มนำอินชัวร์เทคมาใช้งานเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

อย่างในต่างประเทศนั้นล้ำหน้าไปมาก โดยสามารถเลือกคุ้มครองทรัพย์สินเป็นรายชิ้น และเลือกเปิด-ปิดความคุ้มครองเองได้ผ่านแอปฯ บนมือถือ หรือให้ลูกค้าเลือกจ่ายได้เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็มี ดังนั้นในตลาดอินชัวรันซ์บ้านเราน่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค New Normal มากกว่านี้แน่นอน

และไม่ใช่เเค่ตลาดประกันที่น่าจับตา เเต่เป็น เอไอเอส ที่กำลังรุกคืบในธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากเทเลคอมของตัวเอง โดยที่ผ่านมามีธุรกิจ เกม-อีสปอร์ต เเพลตฟอร์มวิดีโอ รวมถึง เพย์เมนต์ ดังนั้น คงต้องรอดูว่าเอไอเอสจะเหยียบขาไปในธุรกิจไหนอีกบ้าง