บริษัท Coca-Cola จะทดลองใช้ “ขวดกระดาษ” เป็นครั้งแรกที่ฮังการี อีกหนึ่งโครงการนวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลาสติก มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องข้ามผ่านให้ได้ คือขวดกระดาษต้องทนแรงอัดจากแก๊สในขวดน้ำอัดลม และไฟเบอร์ในกระดาษต้องไม่หลุดลงไปในน้ำ
วันก่อน Coca-Cola เพิ่งเปิดตัวขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% วันนี้มีอีกหนึ่งนวัตกรรมติดตามมา คือโครงการทดลองใช้ “ขวดกระดาษ” กับสินค้าน้ำผลไม้ยี่ห้อ Adez ในเครือ
ขวดกระดาษดังกล่าวเป็นนวัตกรรมจากบริษัท The Paper Bottle Company หรือ Paboco จากเดนมาร์ก บริษัทนี้พัฒนาขวดที่ทำจากกระดาษเกือบทั้งหมด ส่วนที่ยังต้องใช้พลาสติกคือขอบขวดบางๆ และปากขวดพร้อมฝาปิด (โดยทำจากพลาสติกรีไซเคิล) แต่บริษัทมุ่งมั่นที่จะทำให้ทั้งขวดผลิตจากกระดาษต่อไป
นวัตกรรมของ Paboco มีบริษัทใหญ่ที่เซ็นดีลทดลองใช้แล้ว ได้แก่ Coca-Cola จะนำไปใช้กับน้ำผลไม้ Adez ในเครือจำนวน 2,000 ขวด วางขายจริงครั้งแรกที่ฮังการีในฤดูร้อนนี้ ตามด้วยบริษัท Absolut ผู้ผลิตเหล้าวอดก้า จะทดลองใช้กับเครื่องดื่มน้ำราสเบอร์รี่อัดแก๊ส 2,000 ขวดวางจำหน่ายที่สหราชอาณาจักรและสวีเดน ปิดท้ายที่เบียร์ Carlsberg ซึ่งกำลังเริ่มทำขวดกระดาษโปรโตไทป์สำหรับบรรจุเบียร์ของบริษัท (อ่านเพิ่มเติม: ‘โค้ก’ เปิดตัว ‘ขวดรีไซเคิล 100%’ ลบภาพผู้ก่อมลพิษจากพลาสติกอันดับ 1 ของโลก)
ความท้าทายคือ ‘ขวดกระดาษ’ ต้องทนแรงอัดแก๊ส
แม้ว่าบรรจุภัณฑ์ในตลาดจะมีที่ทำจากกระดาษอยู่แล้ว เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ แต่บรรจุภัณฑ์เหล่านี้นำมาใช้กับเครื่องดื่มอัดแก๊สไม่ได้ เพราะกล่องกระดาษธรรมดาจะรับแรงดันจากแก๊สที่อยู่ภายในไม่ไหว และเกิดอาการรั่วไหลหรือระเบิด ยิ่งเครื่องดื่มเหล่านี้ต้องถูกขนส่งบนท้ายรถบรรทุกกลางแดดจัด ยิ่งเป็นปัญหาสำคัญในการใช้งาน
ความท้าทายนี้ทำให้ Paboco ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนากล่องกระดาษที่ใส่น้ำอัดลมได้ โดยเป็นกระดาษที่แข็งแรงทนทานเพียงพอ
“ด้วยการผสมผสานระหว่างการออกแบบสินค้าและสูตรการผสมไฟเบอร์ให้แข็งแรง ทำให้ขวดนี้จะไม่แตกเมื่อรับแรงกดดันจากแก๊ส” ไมเคิล มิคเคลเซ่น ผู้จัดการพาณิชย์ของบริษัทกล่าว
นอกจากนี้ ความท้าทายอีกอย่างคือกระดาษเป็นเส้นใยไฟเบอร์ กล่องจะต้องมีเทคโนโลยีป้องกันไม่ให้ไฟเบอร์หลุดละลายลงไปในน้ำซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ และทำให้รสชาติเปลี่ยน ในกรณีนี้ บริษัทจะใช้เทคนิคการเคลือบภายใน (coating) ด้วยสารที่ทำจากพืช (plant-based) เพื่อให้อาหารปลอดภัย
อีกประเด็นหนึ่งที่บริษัททำขวดกระดาษต้องพัฒนานวัตกรรมให้ได้ คือกระดาษต้องขึ้นรูปตามแม่พิมพ์ได้ เพื่อทำขวดตามการออกแบบรูปขวดและขนาดที่แต่ละแบรนด์ต้องการ รวมถึงนำไปพิมพ์ลายยี่ห้อของแบรนด์ได้อย่างสวยงาม
ทดสอบด้วยการขนส่ง
ฤดูร้อนนี้ เมื่อขวดกระดาษของ Adez ออกวางขาย ขวดเหล่านี้จะถูกขนส่งแบบปกติ จากโรงงานขึ้นรถบรรทุก กระจายสินค้าไปตามร้านค้าย่อย เพื่อเก็บฟีดแบ็กว่าขวดมีปัญหาหรือไม่
“เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าขวดจะต้องเจอกับอะไรบ้าง” มิคเคลเซ่นกล่าว “คุณต้องนำมันไปพิสูจน์ในโลกแห่งความเป็นจริง และคุณต้องได้ฟีดแบ็กจากโลกแห่งความเป็นจริงด้วย”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขวดกระดาษจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่ “ฟิน สเลเตอร์” บรรณาธิการดิจิทัลของนิตยสาร Packaging Europe มองว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเป็นที่นิยม เพราะอุตสาหกรรมนี้ใช้ขวดพลาสติกจนชินไปแล้ว รวมถึงในหลายประเทศก็มีระบบรีไซเคิลขวดพลาสติกอย่างกว้างขวางแล้ว
รวมถึงปัญหาเรื่อง “ต้นทุน” การผลิตด้วย ขวดพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ถูกกว่าและประสิทธิภาพสูง ดังนั้น เชื่อว่าขวดกระดาษจะเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อตลาดนิชมาร์เก็ต ช่วยเสริมคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในช่วงแรกๆ ของการใช้งาน
แต่ดูอย่างกรณีของ Tetra Pak นวัตกรรมกล่องนมเคลือบพลาสติกที่เรารู้จักกันดีในยุคนี้ ก็เคยเป็นของใหม่มาก่อนในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ดังนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการแข่งขันในตลาด
“นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนแต่ละอย่างนั้น ไม่เพียงแต่ผลักขอบเขตของการใช้วัสดุผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ออกไป แต่ยังเพิ่มแรงกดดันให้การใช้วัสดุชนิดอื่นต้องเพิ่มความสามารถในการรีไซเคิลได้ และลดคาร์บอนฟุตปริ้นต์ให้แก่โลก” สเลเตอร์กล่าว