รู้จัก Clubhouse โซเชียลมีเดียดูดชีวิต เล่นกับความไม่อยากพลาดของคนฟัง

(Photo illustration by Jakub Porzycki/NurPhoto via Getty Images)
Clubhouse กลายเป็นโซเชียลมีเดียน้องใหม่ ที่เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหลายคนมองว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการที่เจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่าง Elon Musk สร้างห้องสนทนาพูดคุยกับซีอีโอของ Robinhood แพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์ที่กำลังเป็นประเด็นในช่วงเวลานั้น

โหลดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องได้รับเชิญเท่านั้น

เมื่อถึงขั้นที่ Elon Musk ลงมาใช้งานแอปพลิเคชันนี้ บรรดานักลงทุนต่างๆ รวมถึงผู้ที่สนใจในเทคโนโลยี ก็พร้อมที่จะเข้ามาสู่โซเชียลมีเดียแห่งนี้พร้อมๆ กัน จนเกิดเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงข้ามคืน เมื่อผู้ใช้งานชาวไทยเริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น และเกิดการเชิญชวนผู้ใช้ในวงกว้าง

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้งาน Clubhouse ยังเกิดขึ้นในวงจำกัดช่วงแรก เกิดจากการที่ปัจจุบันแอปพลิเคชันนี้ให้บริการเฉพาะบน iOS เท่านั้น จึงมีเฉพาะผู้ใช้งาน iPhone ที่เข้ามาใช้งานได้ ซึ่งทางนักพัฒนาได้แจ้งว่าในอนาคตก็พร้อมที่จะเปิดให้ผู้ใช้งาน Android เข้ามาใช้ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ด้วยรูปแบบการเข้าใช้งานที่ต้องได้รับคำเชิญเท่านั้น จึงทำให้กลุ่มผู้ที่เข้ามาใช้งาน Clubhouse ในช่วงแรก จะเป็นกลุ่ม Early Adopter ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่ากลุ่มคนแรกๆ ในไทยที่เข้าใช้งานจะเป็นบรรดา Tech StartUps จนถึงบรรดานักลงทุน นักการตลาดดิจิทัล รวมถึงผู้ที่ต้องการหาโซเชียลมีเดียใหม่ๆ ที่ให้ประโยชน์เข้ามาใช้งาน

clubhouse

โดยในการเข้าใช้งาน จะเริ่มจากผู้ใช้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Clubhouse มาลงทะเบียน ในลักษณะของการจองชื่อบัญชีผู้ใช้ เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว ถ้ามีผู้ที่มีรายชื่อผู้ติดต่อของเราอยู่ในแอปพลิเคชันก็จะสามารถกดอนุมัติให้เราเข้าไปใช้งานได้ทันที

หรือในอีกรูปแบบหนึ่งคือการเชิญชวนใช้งานผ่าน SMS ซึ่งตรงนี้จะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในช่วงแรก เนื่องจากทาง Clubhouse จะให้บัตรเชิญเริ่มต้นเพียง 1-2 คำเชิญเท่านั้น และเมื่อเริ่มใช้งานมากยิ่งขึ้น อย่างการสร้างห้องสนทนา ร่วมพูดคุย ก็จะได้รับคำเชิญเพิ่มเติม

เข้าแล้วออกไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเข้าไปลองใช้งานจะพบว่า Clubhouse ได้ถูกพัฒนามาเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของดีไซน์การใช้งานที่เข้าใจได้ง่าย ด้วยการนำเสนอกลุ่มสนทนาที่เราสนใจ เพื่อให้เราสามารถตั้งแจ้งเตือนเวลาให้เข้าไปฟังได้ทันที จนถึงสามารถเลื่อนดูหัวข้อสนทนา ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นเพื่อเข้าไปร่วมรับฟังได้ด้วย

ขณะเดียวกัน การสื่อสารใน Clubhouse ยังมีลักษณะเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง คือนอกจากผู้พูดหลักแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมในห้องสนทนาสามารถยกมือ เพื่อให้ผู้สร้างห้องเชิญขึ้นไปพูด เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ จึงเกิดเป็นการสนทนาที่หลากหลาย และไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าเนื้อหาที่เกิดขึ้นจากผู้ร่วมรับฟังนี้จะไปในทิศทางไหน

clubhouse

ทำให้เกิดปรากฏการณ์การเสพติดการใช้งาน เพราะกลัวที่จะพลาดหัวข้อสนทนาๆ ที่สำคัญ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ช่วงเวลาหนึ่งได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลที่ว่าการสนทนาที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อในภายหลัง นอกจากกรณีที่ผู้เข้าร่วมรับฟัง ทำการบันทึกเสียงจาก iPhone ไว้ และนำไปเผยแพร่ต่ออีกครั้งในช่องทางอื่นๆ

หัวข้อสนทนาที่หลากหลาย

แม้ว่า Clubhouse จะเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในไทย แต่สังเกตได้ว่ากลุ่มผู้ที่เข้าร่วมในเวลานี้มีความหลากหลายมากๆ ทั้งการใช้สร้างห้องสัมมนาทางการเมือง โดยมี ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ เข้ามาเปิดห้องสนทนา พร้อนชวนกลุ่มตลาดหลวงเข้าไปใช้งาน

แน่นอนว่า หัวข้อที่เกิดขึ้นจากการตั้งห้องสนทนาใน Clubhose นั้น จะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ภาครัฐ เข้ามาจับตาดูการใช้งานของกลุ่มผู้ใช้นี้อย่างแน่นอน เพราะได้กลายเป็นช่องทางใหม่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน เพิ่มเติมจากทวิตเตอร์ ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

clubhouse

เพราะล่าสุดในประเทศจีน ก็พบว่า มี ‘ชาวเน็ตจีน แห่ใช้แอปฯ Clubhouse หนีมหากำแพงไฟเซ็นเซอร์ของรัฐบาล’

เพื่อเข้ามาใช้ถกเถียงในประเด็นที่ละเอียดอ่อน บนแพลตฟอร์มนี้

ทั้งนี้ ยังมีหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ ทั้งหัวข้อที่เกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้น พันธมิตร ทองคำ บิตคอยน์ รวมถึงบรรดาไลฟ์โค้ชที่เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีการที่จะสร้างรายได้บน Clubhouse ในแง่ของการสร้างห้องสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ผู้คนสนใจ เป็นต้น

จุดกำเนิด Clubhouse

Clubhouse มีจุดกำเนิดมาจาก 2 ผู้ก่อตั้งค่อ โรธาน เซธ และพอล เดวิสัน ที่ต้องการสร้างโซเชียลมีเดียสำหรับการสนทนาผ่านเสียงเป็นสื่อหลัก เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาสื่อสาร และพบปะผู้คนจากทั่วโลกได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ ภายใต้การควบคุมเนื้อหาในการสื่อสารของ Moderator และเงื่อนไขการใช้งานที่มั่นใจว่าจะไม่เกิดการเสียดสี หรือโดนไซเบอร์บูลลี่ ทำให้แพลตฟอร์มนี้ มีทั้งความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ

โดยจุดเด่นของการเลือกใช้เสียงในการสนทนาเป็นหลัก เพราะผู้รับฟังจะสามารถเข้าถึงอารมณ์ และน้ำเสียงของผู้พูดได้ ทำให้รู้สึกถึงความใกล้ชิดกันมากกว่าการสนทนาผ่านตัวอักษร เปรียบเสมือนการฟังวิทยุ หรือพอดคาสต์รายการที่ชื่นชอบ และสามารถกระโดดเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ทันที

หลังจากเปิดให้บริการแอปพลิเคชันตั้งแต่ 8 เดือนที่ผ่านมาในช่วงแรกๆ จะมีผู้ใช้งานจากในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นหลัก ก่อนมาได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศจีน และประเทศไทย ซึ่งล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม Clubhouse ได้ระดมทุนในระดับ Series B ไป และมีโอกาสที่มูลค่าของ Clubhouse จะทะลุระดับพันล้านเหรียญฯ หรือกลายเป็น Unicorn Startup ไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า Facebook กำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกันขึ้นมา และใช้ความได้เปรียบในแง่ของการมีฐานผู้ใช้งานที่กว้างกว่า เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียยังอยู่กับบริการในเครือของเฟซบุ๊กต่อไป เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จกับการทำ Instagram Story ในยุคที่ Snapchat ได้ความนิยม

Source