‘Uniqlo’ ผงาดแซง ‘Zara’ ขึ้นแท่นบริษัทฟาสต์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดของโลก

Photo : Shutterstock

เพราะวิกฤต COVID-19 ที่กินเวลายาวนานกว่า 1 ปีมาแล้ว ซึ่งวิกฤตดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายทั่วโลก และทำให้ ‘Fast Retailing’ บริษัทแม่ของ ‘Uniqlo’ ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องแต่งกายของญี่ปุ่นมีมูลค่าตลาด 10.87 ล้านล้านเยน หรือราว 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.08 ล้านล้านบาท) หลังจากปิดทำการเมื่อวันอังคาร ซึ่งแซงหน้าบริษัท แม่ของ ‘Zara’ อย่าง ‘Inditex’ เป็นครั้งแรก และทำให้กลายเป็นบริษัทค้าปลีกเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อปิดการซื้อขายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ผ่านมา Inditex มีมูลค่าตลาดประมาณ 8.14 หมื่นล้านยูโรเทียบเท่ากับประมาณ 9.88 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท โดยราคาหุ้นของ Inditex ลดลงกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 แม้ว่ายอดขายจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมปี 2020 รายได้ของ Uniqlo ลดลง 40% และรายได้ในปีงบประมาณ 2020 ก็ลดลง 12% จากปีก่อนหน้า แต่ทำไมยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องแต่งกายของญี่ปุ่นรายนี้จึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และกลายเป็นร้านค้าปลีกเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

คำตอบคือ Fast Retailing อยู่ในเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 น้อยกว่า และยังสามารถ ฟื้นตัวได้เร็วกว่า ประเทศในยุโรปและอเมริกามาก ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช่องว่างของ Fast Retailing และ Inditex แคบลง

โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2020 Uniqlo มีร้านค้า 2,298 แห่งทั่วโลกโดย 815 แห่งตั้งอยู่ในญี่ปุ่นและ 892 แห่งตั้งอยู่ในประเทศจีน จำนวนร้านค้าในเอเชียนอกประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 1,300 แห่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมากกว่า 90% ของร้านค้าอยู่ในตลาดเอเชีย ในทางตรงกันข้ามร้านค้าของ Zara ประมาณ 70% ตั้งอยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้นจากการแพร่ระบาด ขณะที่ร้านในฝั่งเอเชียคิดเป็นเพียง 20% เท่านั้น

และจากการปิดสาขาชั่วคราวในหลายประเทศฝั่งยุโรปของ Uniqlo ทำให้รายได้จากตลาดต่างประเทศของ Fast Retailing ลดลง แต่กำไรขั้นต้นของ Greater China (จีนฮ่องกงและไต้หวัน) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กำไรขั้นต้นโดยรวมในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 9.5% เป็น 41.4 พันล้านเยนญี่ปุ่น ในปีงบประมาณ 2020 (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2020) อัตรากำไรขั้นต้นของประเทศจีนอยู่ที่ 14.4% ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่นที่ทำได้ 13%

Photo : Shutterstock

ในส่วนของการเร่งการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ Fast Retailing และ Inditex นั้นต่างก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายออนไลน์ของ Fast Retailing คิดเป็นประมาณ 15.6% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ยอดขายออนไลน์ของ Inditex คิดเป็นประมาณ 14% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการประกาศลดขนาดร้านค้าทางกายภาพและการเร่งอีคอมเมิร์ซของแบรนด์ใหญ่ อีคอมเมิร์ซจะยังไม่มาแทนที่ ‘หน้าร้าน’

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าตลาดจะสูงกว่า Inditex เป็นครั้งแรก แต่รายได้ของ Fast Retailing ก็ยังไม่ดีเท่ากับ Inditex หรือ H&M โดยรายได้ประจำปีงบประมาณที่แล้วของ Inditex อยู่ที่ 2.82 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ส่วน H&M อยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.7 แสนล้านบาท) ส่วนรายได้ปัจจุบันของ Fast Retailing อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ Inditex ได้เริ่มเสริมสร้างการลงทุนในตลาดเอเชียเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วได้เปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียในปักกิ่งโดยมีอาคาร 4 ชั้น มีพื้นที่มากกว่า 3,000 ตารางเมตร โดยหลายคนมองว่า ตลาดเอเชียน่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดมูลค่าตลาดของบริษัทเครื่องแต่งกายยักษ์ใหญ่ทั้งสองบริษัทในอนาคต เนื่องจากตลาดเอเชียกำลังกลายเป็นจุดสนใจของแบรนด์เสื้อผ้า

Nikei Asia / bnext.com